อยู่กับ “โฟม” อยู่กับมะเร็ง

ดร.ศุลีพร แสงกระจ่าง นักวิจัยจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “สโมสรสุขภาพ” เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2555 ว่า ภาชนะโฟมที่ผลิตจากสารโพลีสไตรีน (Polystyrene – PS) นั้น นอกจากจะละลายในของร้อนแล้ว ยังสามารถละลายได้ในแอลกอฮอล์ด้วย ซึ่งเมื่อละลายปนกับอาหารจะมีสารก่อมะเร็งบางอย่างปนเปื้อนมาด้วย

โพลีสไตรีน หรือที่รู้จักกันในนาม “เทอร์โมโคล” (Thermocole) เป็นสารที่ผลิตขึ้นมาจากสารสไตรีนโมโนเมอร์ (Monomer styrene) ซึ่งเป็นสารที่ได้จากการผลิตของโรงงานปิโตรเคมี นับได้ว่าเป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่ใช้อย่างกว้างขวาง โดยในแต่ละปีมีการใช้สารนี้อยู่หลายพันล้านกิโลกรัม

โพลีสไตรีนเป็นพลาสติกชนิดร้อน (Thermoplastic) กล่าวคือ จะอยู่ในสถานะของผลึกใสเมื่ออยู่ในอุณหภูมิปกติ แต่จะหลอมละลายได้เมื่อทำให้ร้อน (ประมาณที่ 100 องศาเซลเซียส) และแข็งตัวอีกครั้งเมื่อเย็นตัวลง โพลีสไตรีนแข็งที่บริสุทธิ์จะใส ไม่มีสี แต่สามารถผสมสีต่างๆ ได้ เป็นพลาสติกแข็งที่ยืดหยุ่นได้เล็กน้อย สามารถนำไปขึ้นรูปได้

โพลีสไตรีนที่ใช้กันอยู่ทั่วไปมีหลายชนิด เช่น ชนิดขยายตัวได้ (Expanded polystyrene – EPS) และชนิดอัดขึ้นรูปได้ (Extruded polystyrene – XPS) หรือที่มีชื่อทางการค้าที่แพร่หลายว่า “Styrofoam” เป็นต้น โพลีสไตรีนใช้ผลิตสิ่งของได้หลายอย่าง เช่น ภาชนะอาหารที่ใช้แล้วทิ้ง แบบพลาสติก กล่องซีดี (CD = Compact disk) และดีวีดี (DVD = Digital video disk) วัตถุที่ใช้ห่อหุ้มอาหาร วัตถุที่ใช้ทำเป็นฉนวน ถ้วยโฟมฯลฯ

โพลีสไตรีนสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีก (Recycle) โดยมีหมายเลข “6” เป็นสัญญลักษณ์ของการนำกลับมาใช้ซ้ำ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นช่วยเพิ่มมูลค่าของโพลีสไตรีนที่นำกลับมาใช้ซ้ำ ให้สูงตามไปด้วย

การย่อยสลายของโพลีสไตรีนจะใช้เวลาหลายร้อยปี การทำลายด้วยวิธีการฝังกลบทำให้เกิดของเหลวและแก๊สที่เป็นอันตรายซึ่งทำให้เกิดสารปนเปื้อนในน้ำใต้ดิน (Ground water) และอากาศ โฟมเป็นส่วนประกอบสำคัญของเศษขยะพลาสติกในมหาสมุทรซึ่งกลายเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ประกาศให้สารสไตรีนที่พบในถ้วยกาแฟและภาชนะอื่นที่ทำจากโฟมเป็นสารก่อให้เกิดมะเร็งในคน

จากการศึกษาในห้องทดลอง สัตว์และมนุษย์ โดยเฉพาะคนงานที่ทำงานในโรงงานพลาสติกอัดแรงซึ่งมีการใช้สารสไตรีนมากกว่าปกติพบว่า สารนี้สามารถทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว (Lymphocytes) และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)

นอกจากนี้จากบทรายงานการศึกษาเรื่องสารก่อมะเร็ง (Carcinogens) ของโครงการพิษวิทยา (Toxicology) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกา (U.S. National Institutes of Health) ได้เปิดเผยว่าสารดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal cancer) และมะเร็งตับอ่อน (Pancreatic cancer) ในหมู่คนงานที่ใช้สารนี้ด้วย

แม้ว่าโพลีสไตรีนจะสามารถนำมาผ่านกระบวนการนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีก แต่ส่วนใหญ่จะไม่เป็นเช่นนั้น สำนักงานผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (U.S. Environmental Protection Agency – EPA) ได้ประเมินว่า แต่ละปีมีถ้วยโฟมถึง 25,000 ล้านใบที่ถูกโยนทิ้ง ทั้งนี้แต่ละใบจะใช้เวลาย่อยสลายกว่า 500 ปี นับเป็นปัญหาที่สำคัญต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง [ของโลก]

แหล่งข้อมูล:

  1. รายการสโมสรสุขภาพ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2555 http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/344910.html [2012, March 31].
  2. Polystyrene. http://en.wikipedia.org/wiki/Polystyrene [2012, March 31].
  3. Chemical Found in Foam Cups a Possible Carcinogen. http://health.usnews.com/health-news/family-health/cancer/articles/2011/06/10/chemical-found-in-foam-cups-a-possible-carcinogen [2012, March 31].