ห้องผ่าตัด วิวัฒนาการมาอย่างไร

นายแพทย์ศักดิ์ แท่นชัยกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต แถลงข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ถึงการอบรมให้ความรู้ทีมแพทย์ที่ให้ความช่วยเหลือยามวิกฤตภัย (Disaster Medical Assistance Team: DMAT) จากทั่วประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติงานโรงพยาบาลสนาม การอบรมนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 - 20 ธ.ค. 2554 ที่จังหวัดภูเก็ต โดยร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) พร้อมทั้งจัดแข่งขัน International Medical Rally ครั้งแรกในเอเชีย

ในบทความ โรงพยาบาลสนาม (Field Hospital) ที่ลงในคอลัมน์นี้ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 กล่าวถึงต้นกำเนิดของโรงพยาบาลสนาม คือโรงพยาบาลเคลื่อนที่สำหรับศัลยกรรมของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีห้องผ่าตัด (Operating Room: OR) เป็นส่วนประกอบสำคัญ และวิวัฒนามาจนถึงปัจจุบัน

แต่จุดเริ่มต้นของห้องผ่าตัด เกิดขึ้นครั้งแรกในโรงเรียนแพทย์ ในลักษณะของโรงผ่าตัด (Operating theater: OT) ซึ่งเป็นอาคารปราศจากเชื้อ รูปครึ่งวงกลมหรืออัฒจันทร์ [มีที่นั่ง] ลดหลั่นเป็นชั้นๆ สำหรับนักศึกษาแพทย์และผู้อื่นที่เข้าชมการผ่าตัดของศัลยแพทย์

ในโรงผ่าตัด อาจยกระดับโต๊ะ [เตียง] ผ่าตัด ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการผ่าตัด และล้อมรอบด้วยที่นั่งเป็นแถวๆ เพื่อให้ผู้ชมได้สังเกตเห็นความคืบหน้าในการผ่าตัด ในสมัยก่อน ศัลยแพทย์แต่งกายตามปรกติแต่มีผ้ากันเปื้อนเพื่อป้องกันเลือดสาดกระเด็น และทำการผ่าตัดด้วยมือเปล่า ใช้เครื่องมือและวัสดุที่มิได้ฆ่าเชื้อ วัสดุเย็บแผลทำจากไหมและเอ็นไส้แกะ ใช้ซ้ำได้ ร่วมกับเข็มที่สอยด้วยมือ ผ้าก็อซพันแผลก็ทำจากเศษผ้าที่ทิ้งตามพื้นของโรงงานผ้าฝ้าย

เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 ภาพสะท้อนของศัลยแพทย์ที่ผ่าตัดสำเร็จ มักมีเลือดและสารเหลวเลอะเทอะเปอะเปื้อนเสื้อผ้าที่เขาสวมอยู่ เมื่อเปรียบเทียบกับแนวความคิดในปัจจุบันของการผ่าตัดแบบวิชาชีพ ที่เน้นเรื่องความสะอาดและระมัดระวัง [การติดเชื้อ]

ในปี พ.ศ. 2427 ศัลยแพทย์ชาวเยอรมันชื่อ Gustav Neuber ได้สร้างข้อกำหนดที่เข้มงวดเพื่อให้แน่ใจถึงการฆ่าเชื้อ (Sterilization) ให้ได้สภาวะปลอดเชื้อ (Aseptic) ในห้องผ่าตัด โดยการสวมใส่เสื้อกาวน์ (Gown) หมวก (Cap) และถุงครอบรองเท้า (Shoe cover) ซึ่งผ่านการทำความสะอาดด้วยหม้อนึ่งอัดไอน้ำ (Autoclave) ที่เขาประดิษฐ์ขึ้น

อีก 1 ปีต่อมา เขาได้ออกแบบและสร้าง คือโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในป่า ณ ที่ซึ่งกำแพง พื้น และมือ แขน และใบหน้าของบุคลากรในห้องผ่าตัด ได้รับการล้างฆ่าเชื้อด้วย ปรอทคลอไรด์ (Mercuric chloride) เครื่องผ่าตัดมีผิวราบเรียบ และชั้นหิ้งทำด้วยกระจกที่ง่ายต่อการทำความสะอาด

นอกจากนี้ ศัลยแพทย์ชาวเยอรมัน Neuber ยังนำเสนอโรงผ่าตัดที่แยกส่วน ระหว่างผู้ป่วยที่ติดเชื้อและผู้ป่วยที่ไม่ติดเชื้อ โดยทำให้อากาศร้อนขึ้นและกรองก่อนส่งต่อเข้าไปในโรงผ่าตัดเพื่อกำจัดเชื้อ (Germ) ในปี พ.ศ. 2433 William Halsted ศัลยแพทย์ชาวอเมริกัน เริ่มใช้ถุงมือผ่าตัด (Surgical gloves) ทางการแพทย์เป็นครั้งแรก ในขณะที่ Charles McBurney เป็นคนแรกที่บุกเบิกการผ่าตัดปลอดเชื้อ (Antiseptic surgery) ในสหรัฐอเมริกา คำว่า “โรงผ่าตัด” สันนิษฐานกันว่ามาจาก “โรงมหรสพ” โดยดูจากลักษณะโครงสร้างของตัวอาคาร ดังนั้นคำว่า “โรงผ่าตัด” จึงไม่เหมาะสมที่จะใช้เรียกอาคารสมัยใหม่ที่ใช้ผ่าตัดในปัจจุบัน ซึ่งมักมีพื้นที่กว้างใหญ่ ง่ายต่อการทำความสะอาด มีแสงสว่างเพียงพอด้วยโคมไฟเหนือศีรษะ และมีจอให้เห็นภาพ และเครื่องติดตามผล (Monitor)

แหล่งข้อมูล:

  1. สสจ.ภูเก็ต-สถาบันการแพย์-JICA จัดแข่ง International Medical Rally ครั้งแรกในเอเชีย http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000156815&Keyword=%e2%c3%a7%be%c2%d2%ba%d2%c5 [2011, December 12].
  2. Operating theater. http://en.wikipedia.org/wiki/Operating_theater [2011, December 12].