ห้องผ่าตัด ปัจจุบันทันสมัย

อนุสนธิจากข่าวเมื่อวานนี้ เกี่ยวกับการอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติงานโรงพยาบาลสนาม และวิวัฒนาการของโรงผ่าตัดในสมัยก่อน ในปัจจุบัน ห้องผ่าตัด มิได้มีลักษณะเหมือนโรงผ่าตัดในอดีตอีกต่อไป แม้โรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์บางแห่งอาจมีระเบียงแสดงภาพโรงผ่าตัด ก็ตาม

โดยทั่วไป ห้องผ่าตัดจะไม่มีหน้าต่าง แต่จะมีสภาพแวดล้อมที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้น มีเครื่องกรองพิเศษที่รักษาความดันของอากาศภายในด้วยสัดส่วนที่เหมาะสมกับอากาศภายนอก มีเครื่องไฟฟ้าสำรองฉุกเฉินในกรณีไฟฟ้าดับ ภายในห้องมีกำแพงที่ติดตั้งเครื่องดูดของเหลวต่างๆ (Wall suction) ท่อออกซิเจน และก๊าซดมยาสลบ (Anesthesia gases)

อุปกรณ์สำคัญประกอบด้วย เตียงผ่าตัด โต๊ะวางเครื่องมือผ่าตัด รถเข็นยาชา และมีพื้นที่จัดเก็บวัสดุที่ใช้ในการผ่าตัด (Surgical supplies) นอกจากนี้ยังมีภาชนะเก็บวัสดุที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Disposables) ภายนอกห้องผ่าตัด จะมีบริเวณขัดฟอกล้างมือสำหรับศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ ผู้ช่วยแพทย์ และพยาบาล ก่อนการผ่าตัด ห้องผ่าตัดจะมีแผนที่แสดงการปรับเตียงและอุปกรณ์ให้คืนสภาพที่เหมาะสม หลังจากพนักงานทำความสะอาดได้ปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้ว

ห้องผ่าตัดหลายๆ ห้องอาจเป็นส่วนหนึ่งของ “หอผ่าตัด” (Operating suite: OS) ซึ่งเป็นส่วนที่แยกต่างหากภายในโรงพยาบาล นอกจากห้องผ่าตัดและห้องน้ำแล้ว หอผ่าตัดยังมีห้องสำหรับเปลี่ยนเสื้อผ้า ชำระล้าง และพักผ่อนสำหรับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด

แล้วยังมีห้องสำหรับเตรียมตัวผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด (Preparation room) และให้ผู้พักฟื้นหลังการผ่าตัด (Recovery room) คลังเก็บวัสดุ ห้องทำงาน เฉลียงทางเดิน และหน่วยงานสนับสนุนอื่นๆ ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มักมีหอผ่าตัดที่ควบคุมอากาศและสิ่งแวดล้อม แยกออกจากส่วนอื่นๆ เพื่อว่า บุคลากรที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น สามารถเข้าถึงได้

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดห้องผ่าตัด “Siriraj Hybrid Theater” เพื่องานการผ่าตัดระบบหัวใจและหลอดเลือด และงานการผ่าตัดสมองและไขสันหลัง โดยเป็นห้องผ่าตัดแบบพิเศษที่ผสมผสานอุปกรณ์เครื่องมือผ่าตัดที่ทันสมัยร่วมกับอุปกรณ์ถ่ายภาพ X-ray อย่างมีประสิทธิภาพสูง อาทิอุปกรณ์ถ่ายภาพ X-ray ชนิด C-arm ที่ให้ภาพคมชัด สามารถบอกขนาดและตำแหน่งของหลอดเลือดและอวัยวะอื่นๆ แล้วยังสามารถสร้างภาพ 3 มิติ เพื่อเป็นแผนที่ช่วยให้การผ่าตัดแบบบาดเจ็บน้อย (Minimally invasive surgery) มีความแม่นยำยิ่งขึ้น

ส่วนเตียงผ่าตัดก็เป็นชนิดพิเศษ ที่ X-ray สามารถทะลุผ่านได้ในทุกทิศทาง ซึ่งจะไม่ขัดขวางภาพ X-ray ของผู้ป่วยและยังปรับได้หลายระดับ สามารถเคลื่อนที่สอดคล้องกับเครื่องถ่ายภาพ X-ray ได้อัตโนมัติ โดยพื้นที่ภายในห้องผ่าตัดไฮบริด จะมีขนาดใหญ่กว่าห้องผ่าตัดทั่วไปเพื่อความสะดวกและคล่องตัวในการทำงาน โดยสามารถลดระยะเวลาการผ่าตัดผู้ป่วยจากเดิม 6 – 8 ชั่วโมง เหลือเพียง 2 – 3 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งช่วยการผ่าตัดโรคที่ซับซ้อนอย่างได้ประสิทธิผล

นอกจากนี้ ยังมีระบบไฟฟ้าและระบบก๊าซที่รองรับการให้แสงสว่างของโคมไฟผ่าตัดชนิดติดเพดาน การทำงานของเครื่องปอดและหัวใจเทียม (ซึ่งจำเป็นสำหรับการผ่าตัดโรคหัวใจและหลอดเลือดแดงใหญ่) และระบบการไหลเวียนอากาศภายในห้องซึ่งได้รับการออกแบบเป็นพิเศษ เพื่อลดภาวะการปนเปื้อนของละอองสกปรกต่างๆที่ลอยอยู่ในอากาศ ทำให้ภาวะการติดเชื้อลดน้อยลง ส่วนผนังของห้องผ่าตัดก็สร้างด้วยวัสดุที่ป้องกันรังสีได้ มีความแข็งแรง โดยเป็นพื้นผิวที่มีคุณลักษณะลดการเกาะติดของเชื้อโรค จึงเสริมความปลอดภัยให้แก่ผู้ป่วยและบุคลากรที่อยู่ภายใน และภายนอกห้องผ่าตัด

แหล่งข้อมูล:

  1. Operating theater. http://en.wikipedia.org/wiki/Operating_theater [2011, December 13].
  2. Siriraj Hybrid Theater. http://www.si.mahidol.ac.th/th/hotnews_detail.asp?hn_id=644 [2011, December 13].