หูตึงเพราะตัวเอง (ตอนที่ 1)

หูตึงเพราะตัวเอง-1

      

      ศ.พญ.เสาวรส ภทรภักดิ์ ประธานราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย แถลงข่าวโครงการ World Hearing Day – วันการได้ยินโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 3 มีนาคมของทุกปีว่า ทั่วโลกมีประชากรที่มีปัญหาการได้ยิน 360 ล้านคน ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า การใช้ชีวิตในปัจจุบัน วัยรุ่นและวัยทำงานมีความเสี่ยงต่อภัยจากเสียงมากขึ้นราว 1,000 ล้านคน

      สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันคนไทยมีปัญหาการได้ยินประมาณ 2.7 ล้านคน หรือเทียบเท่ากับจำนวนประชากรจังหวัดนครราชสีมา หากไม่ได้รับการป้องกันหรือแก้ไขในปี 2568 คาดว่าคนไทยทุก 10 คนจะพบปัญหาการได้ยิน 1 คน

      ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการสูญเสียการได้ยิน เนื่องจากการใช้ชีวิตในปัจจุบันอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังมากขึ้น เช่น สถานที่ทำงาน สถานบันเทิง ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ งานปาร์ตี้ต่างๆ หรืองานคอนเสิร์ต รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่ต้องเสียบหูฟัง เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือการเชื่อมต่อบลูธูท

      พ.อ.หญิง พญ.สายสุรีย์ นิวาตวงศ์ เลขานุการการจัดงานวันการได้ยินโลก กล่าวว่า ปัญหาการสูญเสียการได้ยินจากเสียงดังอาจแบ่งได้เป็นหลายระดับ คือ

      1. การสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว มักมีเสียงในหูร่วมด้วย ระยะฟื้นตัวไม่เกิน 24 ชั่วโมง หากสัมผัสเสียงดังเป็นเวลานาน อาจเกิดการสูญเสียการได้ยินแบบถาวรได้

      2. การสูญเสียแบบถาวร มีการสูญเสียเซลล์ขน และการเสื่อมสลายของเส้นประสาท แบ่งเป็นการสูญเสียการได้ยินจากเสียงดัง อาจเกิดจากการได้ยินเสียงดังๆ เป็นระยะเวลานาน หรือการได้รับเสียงดังมากๆ ในระยะเวลาอันสั้น เช่น เสียงระเบิด เสียงปืน ทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินแบบเฉียบพลัน อาจมีอาการปวด เยื่อแก้วหูทะลุ ร่วมด้วย

      พ.อ.หญิง พญ.สายสุรีย์ กล่าวอีกว่า การป้องกันตนเองไม่ให้ได้เกิดการสูญเสียการได้ยิน คือ

1. ปรับลดความดังเสียงลง

2. ใส่ที่อุดหูกันเสียง

3. ตั้งความดังเสียงในอุปกรณ์ต่างๆ ในระดับปลอดภัยคือประมาณร้อยละ 60 ของความดังสูงสุด

4. พักหูในช่วงที่มีกิจกรรมที่ต้องได้ยินเสียงดังต่อเนื่องเป็นเวลานาน

5. จำกัดเวลาใช้หูฟังส่วนตัว ฟังเสียงจากคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน

6. ประเมินระดับเสียงที่ได้ยิน โดยใช้แอปพลิเคชันในโทรศัพท์ที่วัดระดับความดังของเสียงได้

7. ถ้าเริ่มมีความผิดปกติในการได้ยิน เช่น มีเสียงแว่วในหูคล้ายเสียงจิ้งหรีดหรือจั๊กจั่น หรือเริ่มฟังคนอื่นพูดไม่รู้เรื่อง ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ทันที และ

8. หน่วยงานหรือโรงเรียนควรสนับสนุนให้มีการจัดการตรวจคัดกรองการได้ยินอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง

แหล่งข้อมูล:

  1. เสียบหูฟังมือถือนานเสี่ยงทำ 'หูพัง'. http://www.thaihealth.or.th/Content/41012-เสียบหูฟังมือถือนานเสี่ยงทำ 'หูพัง'.html [2018, March 18].