หูดหงอนไก่ ปัญหาของคนร่วมเพศ (ตอนที่ 3)

หูดหงอนไก่ ปัญหาของคนร่วมเพศ

อาการที่เกิดขึ้น ได้แก่

  • มีก้อนสีเนื้อหรือสีเทาเล็กๆ บวมบริเวณอวัยวะเพศ
  • หูดหลายก้อนอยู่รวมตัวกันคล้ายดอกกะหล่ำปลี
  • มีอาการคันหรือรู้สึกไม่สบายบริเวณอวัยวะเพศ
  • มีเลือดออกระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์
  • หากเกิดในบริเวณท่อปัสสาวะจะทำให้ปัสสาวะขัด
  • บางทีก้อนหูดก็เล็กและแบนจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น บางทีก็มีการขยายออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (The Centers for Disease Control and Prevention) ของสหรัฐอเมริกา ได้มีการประเมินว่า เกือบทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์จะมีการติดเชื้อ HPV อย่างน้อย 1 ชนิด โดยปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยง ได้แก่

  • การมีเพศสัมพันธ์กับหลายคนโดยไม่มีการป้องกัน
  • มีการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted infection = STD) อื่นๆ
  • มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
  • มีการสูบบุหรี่

ทั้งนี้ หูดหงอนไก่อาจก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ดังนี้

  • มะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) และเชื้อ HPV บางชนิดอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งที่ปากช่องคลอด (Cancer of the vulva) มะเร็งทวารหนัก (Cancer of the anus) มะเร็งที่องคชาต (Cancer of the penis) และมะเร็งที่ช่องปากและคอ
  • ปัญหาระหว่างการตั้งครรภ์ เพราะหูดก้อนใหญ่จะทำให้ปัสสาวะลำบาก ส่วนหูดที่ผนังช่องคลอดอาจทำให้ความแข็งแรงของเนื้อเยื่อช่องคลอดระหว่างการคลอดลดลง นอกจากนี้หูดใหญ่ที่อยู่บริเวณปากช่องคลอดอาจทำให้เลือดออกระหว่างการขยายตัวขณะทำคลอด
  • บางกรณี (แต่พบยาก) เด็กที่คลอดออกมาอาจเป็นหูดในคอ ซึ่งจำเป็นต้องผ่าตัดออกเพื่อให้แน่ใจว่าหูดไม่ได้ขวางทางเดินหายใจของทารก

การตรวจวินิจฉัยสามารถทำได้โดย

  • การตรวจแป๊บสเมียร์ (Pap Smear / Pap tests) โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายปากเป็ดที่เรียกว่า Speculum ในการเปิดช่องคลอด แล้วสอดอุปกรณ์ยาวใส่เข้าไปเพื่อเก็บตัวอย่างเซลล์ของปากมดลูก นำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Microscope) เพื่อหาความผิดปกติ
  • การตรวจหาเชื้อเฮชพีวี (HPV test) มักใช้กับผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป แต่ไม่จำเป็นสำหรับผู้หญิงที่อายุน้อย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันมักจะฆ่าเชื้อได้อยู่แล้ว

แหล่งข้อมูล:

  1. Genital warts. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/genital-warts/home/ovc-20265468 [2017, May 8].
  2. Genital warts. http://www.nhs.uk/Conditions/Genital_warts/Pages/Introduction.aspx [2017, May 8].