หายใจไม่ออกเหมือนปอดอุดกั้น (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

ขหายใจไม่ออกเหมือนปอดอุดกั้น

สำหรับการผ่าตัดนั้นเป็นทางเลือกของผู้ที่มีถุงลมโป่งพองอย่างรุนแรง ซึ่งไม่สามารถใช้ยารักษาเพียงอย่างเดียวได้ โดยมี

  • การผ่าตัดเพื่อลดขนาดปอด (Lung volume reduction surgery) - โดยแพทย์จะทำการตัดเนื้อเยื่อปอดที่ถูกทำลายออก ทำให้มีที่ว่างสำหรับเนื้อเยื่อที่ดีที่เหลืออยู่สามารถจะขยายตัวได้ และทำให้กระบังลม (Diaphragm) ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและอยู่ได้นานขึ้น
  • การปลูกถ่ายปอด (Lung transplant) เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการหายใจ แต่ก็มีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การปฏิเสธอวัยวะ (Organ rejection) และต้องกินยากดภูมิไปตลอดชีวิต (Lifelong immune-suppressing medications) การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เพื่อให้รู้สึกดีขึ้นและลดการทำลายปอดให้ช้าลง ได้แก่
  • ใช้เทคนิคการหายใจ เพื่อช่วยให้การหายใจมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือเทคนิคการผ่อนคลายกรณีที่หายใจลำบาก
  • ทำให้ทางเดินหายใจโล่ง ด้วยการควบคุมอาการไอ การดื่มน้ำในปริมาณที่มากและการใช้เครื่องทำความชื้น (Humidifier) ก็อาจช่วยได้
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและทนทานของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจ
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เพราะการมีน้ำหนักตัวน้อยจะสามารถช่วยให้หายใจได้ดี โดยเฉพาะเวลาออกกำลังกาย
  • หลีกเลียงการสูบบุหรี่และมลพิษทางอากาศ
  • ติดเครื่องกรองอากาศในบ้าน
  • พบแพทย์เป็นประจำ

ส่วนการป้องกันการเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่ดีที่สุด คือ อย่าสูบบุหรี่หรือหยุดสูบบุหรี่เดี๋ยวนี้ นอกจากนี้

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศไม่ดีมีมลพิษ ควัน หมอก
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อปอด
  • หากเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคหวัด นิวมอเนีย ด้วย

อนึ่ง เทคนิคการหายใจมี 2 วิธี ที่สามารถช่วยให้อากาศเข้าปอดได้โดยไม่ต้องใช้แรงมาก คือ การหายใจแบบเป่าปาก (Pursed-lips Breathing) และการหายใจด้วยกระบังลม (Diaphragmatic)

การหายใจแบบเป่าปาก ทำได้โดยหายใจเข้าผ่านทางจมูกนับหนึ่ง–สอง แล้วห่อริมฝีปากเหมือนตั้งท่าจะเป่าเทียน หลังจากนั้นจึงค่อยๆ หายใจออกผ่านริมฝีปากที่ห่ออย่างช้าๆ นับหนึ่ง-สอง-สาม-สี่

ส่วนการหายใจด้วยกระบังลม ทำได้ด้วยการผ่อนคลายไหล่ เอามือข้างหนึ่งวางบนหน้าอก อีกข้างหนึ่งวางบนท้อง แล้วหายใจเข้าผ่านจมูกประมาณ 2 วินาที ระหว่างนี้ช่องท้องจะพองขึ้น แล้วค่อยๆ หายใจออกผ่านริมฝีปากที่ห่อพร้อมๆ กับกดช่องท้องเพื่อไล่ลมออกอย่างช้าๆ

และถ้ารู้สึกหายใจไม่ออกระหว่างออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมประจำ ให้หยุดกิจกรรมนั้น แล้วนั่งลงพัก และหายใจแบบเป่าปาก

แหล่งข้อมูล

1. COPD. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/copd/basics/definition/con-20032017[2016, March 5].

2. COPD (Chronic Obstructive Pulmonary Disease) - Topic Overview. http://www.webmd.com/lung/copd/tc/chronic-obstructive-pulmonary-disease-copd-overview [2016, March 5].

3. Breathing Techniques. http://www.copdfoundation.org/What-is-COPD/Living-with-COPD/Breathing-Techniques.aspx[2016, March 5].