หากสัมผัสสารพิษ ฝ่าวิกฤติเบื้องต้นอย่างไรดี (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

โซเดียมไฮโปคลอไรต์ (Sodium hypochlorite) ทำปฏิกิริยารวมกับออกซิเจน (Oxidation) ก่อให้เกิดการกัดกร่อน สารละลายที่มีความเข้มข้นสูง (กล่าวคือมีน้ำหนักของโซเดียมไฮโปคลอไรด์มากกว่า 40%) สามารถทำให้ผิวหนังไหม้และก่อความเสียหายให้กับดวงตา การเติมคลอรีนลงในน้ำดื่มทำให้สารอินทรีย์ปนเปื้อน (Contamination) เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น อาจก่อให้เกิดฮาโลฟอร์ม (Haloforms) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogenic)

ปัจจุบันมีความกังวลกันว่าโซเดียมไฮโปคลอไรต์อาจก่อให้เกิดสารประกอบอินทรีย์คลอรีน (Chlorinated organic compound) จากการเก็บและใช้งานในครัวเรือนและในอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น เมื่อผสมสารซักฟอกกับน้ำ จะสังเกตได้ว่า ประมาณ 1–2% ของคลอรีน จะรวมตัวเป็นส่วนประกอบสารอินทรีย์

ในการศึกษาแม่บ้านที่สัมผัสหรือได้กลิ่นน้ำยาทำความสะอาดในครัวเรือน พบว่า โซเดียมไฮโปคลอไรท์ที่ใช้เป็นปรกติ ก็อาจก่อให้เกิดกลุ่มอาการทำงานผิดปรกติของระบบทางเดินหายใจ (Reactive Airway Dysfunction Syndrome – RADS) ซึ่งอาการคล้ายโรคหอบหืด โดยความร้ายแรงของอาการก็จะขึ้นอยู่กับปริมาณการสัมผัสหรือสูดดม และปัจจัยแวดล้อม

นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.กระทรวงสาธารณสุข กล่าวอีกด้วยว่า ในทางการแพทย์ ร่างกายจะขับสารโซเดียมไฮโปคลอไรต์ ได้ช้ากว่าสารโทลูอีน แม้เหตุการณ์โรงงานสารโทลูอีนระเบิดจะรุนแรงกว่า แต่ขับออกจากร่างกายได้เร็ว ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เร็ว แต่จะมีผู้ป่วยบางคนที่ได้รับการกระแทกจากแรงระเบิด มีบาดแผลไฟไหม้ที่ ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลอีกสักระยะหนึ่ง

นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวว่า เนื่องจากไม่มียาต้านพิษ (Antidote) โดยเฉพาะ สำหรับสารพิษ (Toxicant) หลายชนิดรวมทั้งโซเดียมไฮโปคลอไรต์ หรือโทลูอีน แพทย์จึงต้องใช้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ดังนั้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระหว่างสัมผัสสารพิษจึงมีความสำคัญมาก

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัมผัสหรือสูดดมสารพิษใดๆ ได้แก่

  1. ดูว่าอวัยวะใดที่สัมผัสสารพิษ เช่น กลืนเข้าคอ สูดเข้าจมูก สัมผัสทางผิวหนัง ถ้าเข้าคอก็ต้องกลั้วคอล้าง หรือเป็นหมอกควันพิษก็ต้องล้างออกด้วยน้ำเกลือปลอดเชื้อ หรือน้ำสะอาด
  2. ออกจากสถานที่ที่มีสารพิษอยู่โดยเร็ว
  3. หากมีตัวอย่างสารพิษหรือทราบแหล่งที่มา จะช่วยหน่วยพยาบาลในการดูแลรักษาเบื้องต้นได้มาก
  4. เมื่อรู้จักสารพิษแล้ว มีข้อมูล เช่น ไฮโปคลอไรต์ จะทำให้เยื่อบุตาอักเสบ คอเจ็บก็หาอุปกรณ์มาปิดตาปิดปาก ส่วนโทลูอีนเป็นสารระเหย หรือเป็นของเหลว ก็ต้องหาเสื้อกันสารเคมีชนิดที่มิดชิด
  5. สารระเหยที่เป็นเคมีลอยในอากาศได้ไกลถึง 600 เมตรในที่ลมสงบ และถ้าลมแรงก็จะลอยไปไกลกว่านั้นมาก ให้ดูทิศทางลม แล้วหลบไปอยู่เหนือลม
  6. ล้างพิษด้วยน้ำสะอาดหลายๆ น้ำ
  7. อย่าทำให้อาเจียน เพราะอาจทำให้สำลักลงปอดอาจถึงขั้นปอดอักเสบ หรือขึ้นมาในหลอดอาหารได้
  8. เมื่อแก้เบื้องต้นแล้วให้รีบไปพบแพทย์ด้านพิษวิทยาผู้เชี่ยวชาญอาการพิษจากเคมีทั้งหลาย

แหล่งข้อมูล:

  1. แนะ 8 วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากได้รับสาร “โทลูอีน” และ “โซเดียม ไฮโปคลอไรท์” http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000056552 [2012, May 14].
  2. Sodium Hypochlorite. http://en.wikipedia.org/wiki/Sodium_hypochlorite [2012, May 14].