หัวใจแดนซ์ไม่เป็นจังหวะ (ตอนที่ 1)

หัวใจแดนซ์ไม่เป็นจังหวะ-1

      

      นับเป็นเรื่องน่าเศร้าของวงการลูกหนังที่ต้องสูญเสียสตาร์ดังกัปตันทีมของฟิออเรนตินาอย่าง ดาวิเด อัสโตรี ในวัยเพียง 31 ปีและล่าสุดผลชันสูตรศพก็ออกมาแล้วว่า เขาเกิดสภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือ Cardiac arrest ก่อนจะเสียชีวิต

      ทั้งนี้ ผลชันสูตรศพยังระบุว่า หัวใจของอัสโตรีประสบปัญหา สภาวะ Bradyarrhythmia หรือ หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาทีขณะที่เขาหลับอยู่ จากนั้นก็เสียชีวิตหลังหัวใจเต้นช้าลงเรื่อยๆ จนหยุดเต้น

      หัวใจมี 4 ห้อง แบ่งเป็น 2 ห้องบน (The atrium) และ 2 ห้องล่าง (The ventricle) โดยหัวใจที่เต้นปกติจะถูกควบคุมด้วยตัวคุมจังหวะที่เรียกว่า “Sinus node” ซึ่งอยู่ทางขวาของหัวใจห้องบนขวา โดย Sinus node จะสร้างสัญญาณไฟฟ้า (Electrical impulse) ที่ทำให้หัวใจเต้นปกติ

      หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Heart arrhythmia) เกิดเมื่อสัญญาณไฟฟ้าในร่างกายไม่สัมพันธ์กับการเต้นของหัวใจ เป็นเหตุให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น

  • หัวใจเต้นเร็วเกิน (Tachycardia) โดยเต้นนาทีละ 100 ครั้งขึ้นไป
  • หัวใจเต้นช้าเกิน (Bradycardia) โดยเต้นน้อยกว่านาทีละ 60 ครั้ง
  • หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ (Fibrillation) คือ หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ มีทั้งเต้นช้าและเต้นเร็ว

      ตัวอย่างของภาวะหัวใจเต้นเร็วเกิน (tachycardia) ได้แก่

  • Premature atrial contractions (PAC) - เกิดจากการเหนี่ยวนำไฟฟ้าโดยจุดผิดปกติ (Ectopic foci) ที่ไม่ใช่ Sinus node
  • Premature ventricular contractions (PVCs) - เป็นชนิดที่พบบ่อย มีความสัมพันธ์กับความเครียดหรือการมีคาเฟอีนหรือนิโคตินที่มาก
  • Atrial fibrillation หรือ AF หรือ A-Fib - เป็นภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว เกิดจากสัญญาณไฟฟ้าที่ยุ่งเหยิงในหัวใจห้องบน ทำให้มีการส่งสัญญาณที่รวดเร็ว ไม่เป็นระเบียบ ไปยังหัวใจห้องล่าง อาจเป็นชั่วครั้งชั่วคราวหรือเป็นไปตลอดจนกว่าจะมีการรักษา ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่มักเกิดในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง และผู้ที่หัวใจมีปัญหา
  • Atrial flutter - เป็นภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ มีลักษณะคล้ายภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว แต่เต้นอย่างมีระเบียบและเป็นจังหวะมากกว่าภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว และอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างโรคหลอดเลือดสมองเช่นเดียวกัน มักเกิดในคนที่เป็นโรคหัวใจหรือในผู้ป่วยสัปดาห์แรกหลังการผ่าตัดหัวใจ
  • Ventricular tachycardia (VT) - เกิดจากความผิดพลาดของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่หัวใจห้องล่าง ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น เมื่อหัวใจเต้นเร็วมากก็ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดไปยังส่วนต่าง ๆ ในร่างกายได้

แหล่งข้อมูล:

  1. น่าเศร้า!! ผลชันสูตรศพออกมาแล้ว กัปตันฟิออฯเสียชีวิตเพราะอะไร. https://www.thairath.co.th/content/1221355#cxrecs_s [2018, April 7].
  2. Heart arrhythmia. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heart-arrhythmia/symptoms-causes/syc-20350668 [2018, April 7].
  3. When Your Heart Rhythm Isn't Normal. https://www.webmd.com/heart-disease/guide/heart-disease-abnormal-heart-rhythm#1 [2018, April 7].
  4. What Is Arrhythmia? https://www.healthline.com/health/arrhythmia#outlook [2018, April 7].