หัวใจตีบตัน (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

การวินิจฉัยโรค (ต่อ)

  • การสแกนหัวใจ (Heart scan) – ดัวยการใช้ซีทีสแกน จะทำให้แพทย์สามารถมองเห็นถึงสิ่งที่เกาะอยู่ที่หลอดเลือดซึ่งอาจทำให้หลอดเลือดตีบ

    ส่วนการตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Coronary CT Angiography) เป็นวิธีการตรวจหัวใจเพื่อดูเส้นเลือดของหัวใจว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือความผิดปกติอื่นๆ ของหลอดเลือดหัวใจบ้างหรือไม่ รวมถึงใช้ติดตามผลการรักษาภายหลังการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งผู้ที่เข้ารับการตรวจวิธีนี้จะได้รับสารทึบรังสีเพื่อให้ได้ภาพเอกซเรย์ที่ดีที่สุด

  • การทำเอ็มอาร์ไอ เพื่อดูภาพละเอียดของหัวใจ ด้วยการใช้สนามแม่เหล็กและคลื่นวิทยุในการสร้างภาพ

การรักษาภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบตันทำได้เพียงการจัดการกับอาการที่เกิดขึ้นและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต มักทำได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตและการใช้ยา หรือบางกรณีอาจใช้การผ่าตัดช่วย โดยการเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิต เช่น

  • เลิกสูบบุหรี่ - การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุหลักของภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบตัน เพราะนิโคตินจะทำให้หลอดเลือดหดตัว ซึ่งทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ในขณะที่คาร์บอนมอนอกไซด์จะไปลดปริมาณออกซิเจนในเลือดและทำลายผนังหลอดเลือด
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ - เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืช หรือกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว (Saturated fat) คลอเรสเตอรอล และโซเดียมให้น้อย จะช่วยควบคุมน้ำหนัก ความดันโลหิต และระดับคลอเรสเตอรอลได้
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ – ออกกำลังกายวันละ 30-60 นาที จะช่วยควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ควบคุมเบาหวาน ระดับคลอเรสเตอรอล และความดันโลหิต ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยง
  • ลดน้ำหนัก - การลดน้ำหนักจะช่วยลดความดันโลหิตและความเสี่ยงในการเกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบตันได้
  • ลดความเครียด – เช่น การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การหายใจลึกๆ (Deep breathing)
  • ควบคุมระดับคลอเรสเตอรอลให้อยู่ในช่วงปกติ – คนส่วนใหญ่จะมีระดับ LDL ต่ำกว่า 130 mg/dL (มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) หรือ 3.4 mmol/L (มิลลิโมลต่อลิตร) แต่ถ้าเป็นผู้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจแล้ว ควรรักษาระดับ LDL ให้ต่ำกว่า 100 mg/dL หรือ 2.6 mmol/L
  • ควบคุมเบาหวานหรือระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อลดความเสี่ยง

ส่วนการใช้ยา ได้แก่

  • ยาลดไขมันในเลือด (Cholesterol-modifying medications) โดยเฉพาะไขมันตัวร้าย (LDL)
  • ยา Aspirin หรือ ยาเจือจางเลือด (Blood thinner) เพื่อลดแนวโน้มของการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน กรณีที่เคยมีภาวะหัวใจวาย การกินยา Aspirin อาจช่วยป้องกันอาการหัวใจวายในอนาคต อย่างไรก็ดี ยา Aspirin อาจจะไม่เหมาะในกรณีที่มีเลือดออกผิดปกติหรือได้รับยาเจือจางเลือดอื่นๆ ไปแล้ว ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนการกินยา Aspirin
  • กลุ่มยาปิดกั้นเบต้า (Beta blockers) เพื่อทำให้หัวใจเต้นช้าลงและลดความดันโลหิต อันทำให้หัวใจต้องการออกซิเจนน้อยลง กรณีที่เคยมีภาวะหัวใจวายการกินยากลุ่มนี้จะช่วยป้องกันอาการหัวใจวายในอนาคต

สำหรับการป้องกันภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบตันสามารถทำได้เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิต

บรรณานุกรม

1. Coronary artery disease. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/coronary-artery-disease/home/ovc-20165305 [2017, February 22]

2. Coronary heart disease. http://www.nhs.uk/Conditions/Coronary-heart-disease/Pages/Introduction.aspx [2017, February 22]