หัวใจตีบตัน (ตอนที่ 2)

หัวใจตีบตัน

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบตัน ได้แก่

  • อายุ – ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสที่หลอดเลือดจะตีบมาก
  • เพศ – ผู้ชายมีโอกาสเกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบตันได้มากกว่าผู้หญิง อย่างไรก็ดี ผู้หญิงหลังวัยหมดประจำเดือน (After menopause) จะมีความเสี่ยงที่มากขึ้น
  • ประวัติครอบครัว – ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหากมีพ่อ พี่ชายหรือน้องชาย มีภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบตันก่อนอายุ 55 ปี หรือมีแม่ พี่สาวหรือน้องสาว มีภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบตันก่อนอายุ 65 ปี
  • การสูบบุหรี่ – ทั้งตัวผู้สูบเองและผู้สูดควันบุหรี่มือสอง (Secondhand smoker) โดยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24
  • ความดันโลหิตสูง – หากไม่มีการควบคุมความดันโลหิต อาจเป็นผลให้หลอดเลือดแข็งและหนาตัว ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก
  • คลอเรสเตอรอลสูง – เกิดจากการมีคลอเรสเตอรอลตัวร้าย (Low-density lipoprotein = LDL) ที่สูง และมีคลอเรสเตอรอลตัวดี (High-density lipoprotein = HDL) ที่ต่ำ
  • เป็นโรคเบาหวาน – โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบตันล้วนมีปัจจัยเสี่ยงร่วมกัน เช่น ความอ้วน ความดันโลหิตสูง
  • น้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วน
  • ไม่ออกกำลังกาย
  • มีความเครียดสูง
  • มีลิ่มเลือดในหลอดเลือด (Thrombosis)

ทั้งนี้ ความเสี่ยงมักเกี่ยวพันกัน เช่น โรคอ้วนทำให้เป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ดังนั้นเมื่อเกิดร่วมกันจะยิ่งทำให้ความเสี่ยงในการมีภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบตันเพิ่มมากขึ้น หรือบางครั้งอาจเกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบตันได้ด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้

  • มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep apnea) ซึ่งเป็นภาวะความผิดปกติอย่างหนึ่งของการหายใจที่เกิดขึ้นในระหว่างการนอนหลับ เนื่องจากการตกลงของระดับออกซิเจนในเลือดที่เกิดขึ้นระหว่างหยุดหายใจขณะนอนหลับจะทำให้ความดันโลหิตสูง ระบบหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular system) ตึง เป็นผลให้เกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบตันได้
  • มีระดับ hs-CRP (High sensitivity C-reactive protein) สูง
  • มีระดับไตรกลีเซลไรด์ (Triglycerides) ในเลือดสูง โดยเฉพาะในผู้หญิง
  • มีสารโฮโมซีสเตอีน (Homocysteine) สูง [โฮโมซีสเตอีน เป็นกรดอามิโนชนิดหนึ่งที่ร่างกายใช้สร้างโปรตีนและเนื้อเยื่อ]

บรรณานุกรม

1. Coronary artery disease. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/coronary-artery-disease/home/ovc-20165305 [2017, February 18]

2. Coronary heart disease. http://www.nhs.uk/Conditions/Coronary-heart-disease/Pages/Introduction.aspx [2017, February 18]