หัวใจตีบตัน (ตอนที่ 1)

หัวใจตีบตัน

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2560 ผู้สื่อข่าวได้รายงานว่า นายขวัญแก้ว วัชโรทัย อายุ 89 ปี ปฏิบัติหน้าที่ประจำพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ถึงแก่อสัญกรรมที่ ร.พ.ศิริราช ด้วยภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบตัน หลังจากเข้ารับการรักษาใน รพ.มาระยะหนึ่งด้วยการรักษาทางยา เรามาดูรายละเอียดของภาวะนี้กัน

ภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบตัน (Coronary artery disease / Coronary heart disease = CHD) เกิดจากการที่หลอดเลือดหลัก (Coronary arteries) ที่มีหน้าที่ลำเลียงเลือด ออกซิเจน และสารอาหาร ไปยังหัวใจถูกทำลายหรือผิดปกติ โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการสะสมของพลาค (Plaque) เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด และการอักเสบของหลอดเลือดที่ทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบตัน

ซึ่งบางครั้งอาจเป็นตั้งแต่เด็ก นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจาก

  • การสูบบุหรี่
  • ความดันโลหิตสูง
  • คลอเรสเตอรอลสูง
  • เบาหวานหรือภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance)
  • การมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary lifestyle)

เมื่อผนังหลอดเลือดมีการบาดเจ็บ อักเสบ หรือถูกทำลาย ไขมันหรือแผ่นพลาค (Plaque) ของคลอเรสเตอรอลและเนื้อเยื่อจะสะสมโดยเกาะตามผนังหลอดเลือดบริเวณที่เป็นรอยหรือที่เรียกว่า ไขมันเกาะจับเส้นเลือด (Atherosclerosis) หากผิวของแผ่นพลาคแตกออก เซลล์เม็ดเลือดหรือที่เรียกว่า เกล็ดเลือด (Platelet) จะจับกันเป็นกลุ่มก้อนบริเวณนั้นเพื่อซ่อมแซมหลอดเลือด ซึ่งกลุ่มก้อนนี้จะขัดขวางทางเดินของเลือด

เนื่องจากภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบตันจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นตามระยะเวลา ทำให้เราอาจไม่ทันสังเกตได้ พลาคที่สะสมตามผนังหลอดเลือด จะทำให้หลอดเลือดแดงตีบลงๆ เป็นผลให้ช่องทางการไหลของเลือดลดลง จนในที่สุดทำให้เกิดอาการของภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบตัน ซึ่งได้แก่

  • อาการเจ็บหน้าอก (Angina) - อาจรู้สึกแน่นหน้าอกหรือรู้สึกเหมือนมีใครมาเหยียบบนหน้าอก มักเกิดที่บริเวณด้านซ้ายหรือตรงกลางหน้าอก อาการมักจะหายไปภายในไม่กี่นาทีหลังการหยุดกิจกรรมที่มีแรงกดดัน บางคนโดยเฉพาะในเพศหญิง อาจมีอาการเจ็บแปลบๆ ที่บริเวณคอ แขน หรือหลัง
  • หายใจลำบากหรือรู้สึกอ่อนเพลียมากเมื่อมีการออกแรง ทั้งนี้เพราะเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่พอ
  • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Myocardial infarction) หรือที่เรียกว่า ภาวะหัวใจวาย (Heart attack) - ในกรณีที่หลอดเลือดมีการตีบตันหมด จะรู้สึกว่ามีแรงบีบกดที่หน้าอกและปวดที่ไหล่หรือแขน บางทีมีอาการหายใจไม่ออกและเหงื่อแตก หรือบางทีก็ไม่แสดงอาการแต่อย่างใด

บรรณานุกรม

1. Heavy Metal Poisoning. http://www.dermnetnz.org/topics/heavy-metal-toxicity/ [2017, February 17]

2. Ten Heavy Metal Toxicity Prevention Tips. http://energyfanatics.com/2010/06/02/ten-heavy-metal-toxicity-prevention-tips/ [2017, February 17]

3. What Is Heavy Metal Poisoning? http://www.everydayhealth.com/heavy-metal-poisoning/guide/ [2017, February 17]