หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

อนุสนธิจากข่าวเมื่อวันก่อน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นโครงการล่าสุด (แต่ใหญ่ที่สุด) ที่นำเสนอสู่ประชาชนในปี พ.ศ. 2544 เพื่อขยายขอบเขตประกันสุขภาพประชาชนอย่างถ้วนหน้า (Universal Coverage : UC) แก่ประชาชนที่มิได้รับการความคุ้มครองจาก 2 โครงการก่อนหน้านี้

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นองค์กรของรัฐ ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ภายใต้การกำกับดูแลของการกระทรวงสาธารณสุข สปสช. มีภารกิจหลักในการบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สปสช. ยังพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชน (รวมทั้งเด็ก คนชรา ผู้ตกงาน และคนงานในภาคที่มิได้กำหนดเป็นทางการ (Informal sector) ให้เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระดับพื้นที่ โดยจัดตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามเขตต่างๆ ครอบคลุมทั่วประเทศ

ดังนั้น โครงการนี้จึงครอบคลุมประมาณ 75% - 80% ของประชากรทั่วไทย โดยที่ผู้ได้รับการคุ้มครองสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพสาธารณะ ในลักษณะร่วมจ่าย (Co-payment) 30 บาท ต่อครั้ง ส่วนที่เหลือจ่ายจากระบบกองทุนในลักษณะเงินอุดหนุนต่อหัว (Capitation)

โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งต้องเข้าร่วมโครงการตามกฎหมาย ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชน โดยความสมัครใจ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการได้รับเงินอุดหนุนต่อหัวเช่นกัน แหล่งเงินทุนของโครงการนี้ มาจากภาษีประชาชนแล้วจัดสรรจากงบประมาณแผ่นดิน

ค่าร่วมจ่ายได้ถูกยกเลิกไป ประมาณ 5 ปีที่แล้ว ในสมัย พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมามีการออก “บัตรทอง” ให้แทน สืบเนื่องมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันกำลังพิจารณาจะนำค่าร่วมจ่ายกลับมาใหม่ แต่ต้องชะลอไปเพราะเหตุมหาอุทกภัยที่ทั้งประเทศต้องเผชิญในหลายเดือนที่ผ่านมา

โรงพยาบาลมักได้รับการร้องเรียนเรื่องความไม่พึงพอใจต่อการใช้บริการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่โรงพยาบาลปฏิเสธผู้ป่วยที่ยากจนเกินกว่าที่จะจ่ายเงิน 30 บาท [ก่อนหน้าการยกเลิก] เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษา แต่คุณภาพของการดูแลสุขภาพ หรือเงื่อนไขที่ไม่คุ้มครอง เป็นประเด็นอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

ในปัจจุบันโรงพยาบาลได้รับเงินจากกองทุนบนพื้นฐานการเหมาจ่ายต่อหัวล่วงหน้า (Prospective Capitation) สำหรับผู้ป่วยนอกและบริการป้องกัน และการเหมาจ่ายต่อครั้งย้อนหลัง (Retrospective Capitation) สำหรับผู้ป่วยใน ซึ่งยึดถือวิธีกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnostics related group: DRG) เป็นเกณฑ์คำนวณ

ในกรณี DRG โรงพยาบาลผู้เข้าร่วมโครงการต้องส่งข้อมูลที่ได้จาการบำบัดรักษา อาทิ การวินิจฉัยโรค การเยียวยาหรือผ่าตัด ตลอดจนจำนวนวันที่นอนในโรงพยาบาล (Length of stay) จากนั้นจะมีการรวบรวมผู้ป่วยเป็นกลุ่ม ถ่วงน้ำหนักสัมพัทธ์ ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานของแต่ละ DRG ซึ่งสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงของการบำบัดรักษา เพื่อเป็นดัชนีในการเบิกจ่ายคืน ในทางทฤษฏี วิธีการนี้น่าจะสะท้อนถึงต้นทุนที่ยุติธรรมในการบำบัดรักษาผู้ป่วยใน แต่ในทางปฏิบัติ โรงพยาบาลก็เรียนรู้วิธีการรายงานอาการผู้ป่วยในลักษณะที่ทำให้การเบิกจ่ายคืน สูงเกินกว่าความเป็นจริง