หลอดเลือดแดงโป่งพอง รุกฆาตโดยไม่รู้ตัว (ตอนที่ 8)

หลอดเลือดแดงโป่งพอง

กรณีที่มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงเฉียบพลันหรืออาการอื่นที่สัมพันธ์กับภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองแตก แพทย์จะให้ทำการทดสอบเพื่อดูว่ามีภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Subarachnoid hemorrhage เป็นภาวะที่มีเลือดออกในช่องว่างระหว่างเนื้อสมองและเยื่อหุ้มรอบๆ สมองชั้นกลาง) หรือมีภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือหลอดเลือดแตก (Stroke) หรือไม่ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ซีทีสแกน (Computerized tomography) เป็นวิธีทดสอบอย่างแรกเพื่อดูว่ามีเลือดออกในสมองหรือไม่ วิธีนี้จะมีการฉีดสารทึบสีเพื่อดูการไหลเวียนของเลือดในสมองและดูว่าบริเวณไหนที่มีหลอดเลือดสมองโป่งพองแตก
  • การเจาะน้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid test) กรณีที่มีภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง เซลล์เม็ดเลือดแดงมักจะปรากฏอยู่ในน้ำบริเวณสมองและน้ำไขสันหลัง ดังนั้นแพทย์จึงใช้วิธีนี้เพื่อบอกถึงภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองแตก ในขณะที่ซีทีสแกนไม่สามารถบอกถึงสาเหตุของการมีเลือดออกได้
  • การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI angiography) เพื่อประเมินหลอดเลือดแดงอย่างละเอียดว่า มีการโป่งพองแตกบริเวณใด
  • การฉีดสีเข้าหลอดเลือดสมอง (Cerebral angiogram / Cerebral arteriogram) เป็นวิธีการวินิจฉัยเพื่อตรวจสอบว่าหลอดเลือดสมองมีการแตกหรืออุดตันหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด ด้วยการฉีดสีเข้าบริเวณหลอดเลือดแดงใหญ่ ซึ่งมักจะเป็นบริเวณขาหนีบผ่านไปยังสมอง แล้วทำการเอ็กซเรย์ดู มักใช้ในกรณีที่วิธีตรวจอื่นไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เช่น กรณีที่ขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร

โดยทั่วไป การรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองแตกมักทำได้ 2 วิธี ได้แก่

  • การผ่าตัดโดยการใช้คลิปหนีบ (Surgical clipping) เป็นการผ่าตัดเข้าไปหนีบเส้นเลือดโป่งพองที่คอของเส้นเลือดโดยไม่ทำให้เส้นเลือดที่ดีอุดตัน
  • การรักษาผ่านทางสายสวนหลอดเลือด (Endovascular coiling) เป็นการใส่สายสวนเข้าที่ขาหนีบแล้วปล่อยขดลวด (Coil) ไว้ในหลอดเลือดโป่งพอง โดยขดลวดจะเหนี่ยวนำให้เกิดปฏิกิริยา (Thrombotic reation) ซึ่งจะช่วยทำให้พื้นที่ภายในหลอดเลือดโป่งพองหมดไป

อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 วิธี ล้วนมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งกรณีที่มีเลือดออกในสมองหรือไม่มีเลือดไหลไปยังสมอง และแม้วิธีการรักษาผ่านทางสายสวนหลอดเลือดอาจจะดูปลอดภัยกว่าในระยะแรก แต่ก็มีความเสี่ยงสูงกว่าในเรื่องของการยังมีเลือดออกได้อีก

นอกจากนี่ ยังมีวิธีการรักษาแบบใหม่ที่เรียกว่า การเปลี่ยนทิศทางการไหลของเลือด (Flow diverters) ที่ใช้ได้ดีกับกรณีที่หลอดเลือดสมองโป่งพองมีขนาดใหญ่และไม่ปลอดภัยในการรักษาด้วยวิธีอื่น

ทั้งนี้ วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ ขนาดของหลอดเลือดที่มีปัญหา สุขภาพทั่วไป เป็นต้น กรณีที่หลอดเลือดสมองโป่งพองมีขนาดเล็ก (น้อยกว่า 10 มิลลิเมตร) แพทย์มักแนะนำให้รอดูอาการมากกว่าผ่าตัด

แหล่งข้อมูล

1. Brain aneurysm. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/brain-aneurysm/basics/definition/con-20028457 [2016, September 27].

2. Brain Aneurysm - Topic Overview. http://www.webmd.com/brain/tc/brain-aneurysm-topic-overview#1 [2016, September 27].