หลอดเลือดแดงโป่งพอง รุกฆาตโดยไม่รู้ตัว (ตอนที่ 5)

หลอดเลือดแดงโป่งพอง

โดยทั่วไปการรักษาทำได้โดย

  1. การเฝ้าสังเกต (Medical monitoring) – ใช้ในกรณีที่หลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งพองมีขนาดเล็กและไม่แสดงอาการ แพทย์มักนัดตรวจเป็นระยะๆ เพื่อดูว่าหลอดเลือดโป่งพองมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือไม่ หรืออาจสอบถามถึงอาการต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กับภาวะหลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งพอ
  2. การผ่าตัด – ใช้ในกรณีที่หลอดเลือดโป่งพองมีขนาดเท่ากับหรือใหญ่กว่า 1.9 - 2.2 นิ้ว (หรือประมาณ 5 - 5.5 เซนติเมตร) หรือกรณีที่หลอดเลือดโป่งพองมีการโตที่รวดเร็ว ซึ่งการผ่าตัดสามารถทำได้ 2 แบบ ขึ้นอยู่กับขนาดของหลอดเลือดที่โป่งพอง อายุและสุขภาพของผู้ป่วย รวมถึงดุลยพินิจของแพทย์ กล่าวคือ
  3. แบบเปิดหน้าท้อง (Open abdominal surgery) เพื่อซ่อมแซมหลอดเลือดแดงเอออร์ตา ซึ่งอาจเป็นการตัดหลอดเลือดส่วนที่ถูกทำลายและใส่ท่อสังเคราะห์ (Synthetic tube) แทน
  4. การรักษาผ่านทางสายสวนหลอดเลือดเพื่อวางโครงลวดถ่างขยาย (Endovascular surgery) เป็นการผ่าตัดโดยไม่ต้องเปิดช่องท้อง ทำโดยผ่าตัดผ่านทางเส้นเลือด เหมาะสำหรับคนที่มีภาวะเสี่ยงอื่นร่วมด้วย

แพทย์มักแนะนำให้ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งพองในช่องท้องดูแลตัวเองด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่สามารถทำให้ความดันโลหิตสูง ซึ่งมีผลต่อการโป่งพองของหลอดเลือด เช่น

  • ห้ามยกของหนัก
  • ห้ามออกกำลังกายหนัก
  • หลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้เครียด

นอกจากนี้ยังแนะนำใหรักษาสุขภาพของหลอดเลือดให้แข็งแรงด้วยการ

  • ไม่สูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการเป็นผู้สูบบุหรี่มือสอง (Secondhand smoke)
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักผลไม้ที่หลากหลาย หลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานซ์ และเกลือ
  • ควบคุมระดับความดันโลหิตและระดับคลอเรสเตอรอล
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • รักษาน้ำหนักตัวให้พอดี อย่าปล่อยให้อ้วน

โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Brain aneurysm) เป็นการโป่งพองของหลอดเลือดในสมองที่มีลักษณะคล้ายลูกเบอรี่แขวนอยู่บนกิ่ง โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองสามารถทำให้หลอดเลือดรั่วหรือแตกซึ่งเป็นสาเหตุให้มีเลือดออกในสมอง (Hemorrhagic stroke)

หลอดเลือดสมองโป่งพองที่แตกมักเกิดขึ้นในบริเวณระหว่างสมองและเนื้อเยื่อบางๆ ที่หุ้มสมองอยู่ โดยเรียกเลือดออกในสมองชนิดนี้ว่า เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Subarachnoid hemorrhage = SAH)

แหล่งข้อมูล

1. Brain aneurysm. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/brain-aneurysm/basics/definition/con-20028457 [2016, September 24].

2. Abdominal aortic aneurysm. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/abdominal-aortic-aneurysm/home/ovc-20197858 [2016, September 24].

3. Abdominal aortic aneurysm. http://www.nhs.uk/conditions/Repairofabdominalaneurysm/Pages/Introduction.aspx [2016, September 24].