หลอดเลือดแดงโป่งพอง รุกฆาตโดยไม่รู้ตัว (ตอนที่ 3)

หลอดเลือดแดงโป่งพอง

ต่อไปจะขอกล่าวเฉพาะโรคหลอดเลือดแดงโป่งพองบริเวณที่เกิดมากที่สุด ซึ่งได้แก่ บริเวณช่องท้องและสมอง

โรคหลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งพองในช่องท้อง (Abdominal aortic aneurysm = AAA) เป็นการโป่งพองของหลอดเลือดแดงเอออร์ตาช่วงล่าง ซึ่งเป็นหลอดเลือดหลักในการส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ไหลจากหัวใจไปยังกลางหน้าอกและช่องท้อง ดังนั้น หากหลอดเลือดนี้มีการแตกก็อาจทำให้เสียชีวิตได้

โดยปกติหลอดเลือดแดงเอออร์ตาจะเป็นหลอดเลือดใหญ่ที่มีขนาดความกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร และสามารถพองออกได้มากกว่า 5.5 เซนติเมตร โรคหลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งพองในช่องท้องเกิดจากการที่ผนังหลอดเลือดแดงเอออร์ตาบางส่วนอ่อนแอ และมีเลือดปริมาณมากที่ไหลผ่านจนทำให้เกิดความกดดันในจุดที่อ่อนแอนั้น กลายเป็นการโป่งพอง

โรคหลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งพองสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของหลอดเลือดแดงเอออร์ตา หากเกิดขึ้นในช่วงบนจะเรียกว่า โรคหลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งพองในช่องอก (Thoracic aortic aneurysms)

โรคหลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งพองในช่องท้องมักเป็นไปอย่างช้าๆ และไม่แสดงอาการ ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะตรวจพบ โดยบางครั้งหลอดเลือดนี้ก็อาจไม่แตกเลย หรือบางกรณีก็โป่งพองเป็นขนาดเล็กและคงอยู่เช่นนั้น ในขณะที่บางกรณีก็ค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นไปตามเวลา หรือเป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ยากที่จะพยากรณ์ได้ว่า หลอดเลือดจะโป่งพองได้เร็วขนาดไหน

บางคนอาจสังเกตุอาการผิดปกติได้จาก

  • ความรู้สึกสั่นใกล้สะดือ
  • ปวดลึกคงที่ในช่องท้องหรือด้านข้างของช่องท้อง
  • ปวดหลัง

ดังนั้น หากมีอาการปวดหลังหรือปวดท้องรุนแรงเฉียบพลัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการแต่ควรไปตรวจอย่างยิ่ง คือ ผู้ชายอายุ 65-75 ปี ที่เคยสูบบุหรี่

สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งพองในช่องท้องนั้นยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจน แต่คาดว่าน่าจะมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้

  • การสูบบุหรี่ ที่ทำลายผนังหลอดเลือดแดงเอออร์ตา (ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 7 เท่า และผู้ที่สูบบุหรี่วันละ 20 ม้วน มีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 10 เท่า)
  • หลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ซึ่งเกิดจากการที่ไขมันและสารอื่นๆ เกาะติดอยู่ตามผนังหลอดเลือด
  • ความดันโลหิตสูง
  • โรคหลอดเลือดในเอออร์ตา ที่ทำให้หลอดเลือดอักเสบ
  • การได้รับบาดเจ็บ เช่น อุบัติเหตุรถชน
  • กรรมพันธุ์
  • ผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิงถึง 6 เท่า

แหล่งข้อมูล

1. Abdominal aortic aneurysm. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/abdominal-aortic-aneurysm/home/ovc-20197858 [2016, September 22].

2. Abdominal aortic aneurysm. http://www.nhs.uk/conditions/Repairofabdominalaneurysm/Pages/Introduction.aspx [2016, September 22].