หลอดเลือดดำอุดตัน (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

หลอดเลือดดำอุดตัน-4

      

      ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตันเป็นภาวะที่อันตรายอาจทำให้เสียชีวิตได้ การรักษาต้องทำอย่างทันท่วงที มักทำด้วยการให้ยาเจือจางเลือดเพื่อลดการอุดตัน โดยใช้

  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) ซึ่งรวมถึงยาฉีดอย่าง ยา Heparin ยา Enoxaparin หรือ ยาเม็ด เช่น ยา Apixaban ยา Dabigatran ยา Rivaroxaban ยา Edoxaban และ ยา Warfarin
  • การใช้ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytic therapy) ผ่านทางหลอดเลือด เช่น Tissue plasminogen activator (tPA)
  • การผ่าตัดด้วยการใส่เครื่องกรอง (Filter) ในหลอดเลือดที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายที่เรียกว่า หลอดเลือดเวนาคาวาด้านล่าง (Inferior vena cava) เพื่อป้องกันลิ่มเลือดไหลมายังปอด หรือ การผ่าตัดเอาลิ่มเลือดออก
  • การใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ถุงน่องแบบรัดเพิ่มความดัน (Compression stockings)

      ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตันเป็นภาวะที่ป้องกันได้ด้วยการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anti-clotting) หรือยาเจือจางเลือด (Blood-thinning) หรือถุงน่องแบบรัดเพิ่มความดัน หรือลุกจากเตียงให้เร็วที่สุดหลังการผ่าตัด

      ส่วนการลดโอกาสในการเกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตัน ทำได้ด้วยการ

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ไม่สูบบุหรี่

      และกรณีที่ต้องเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นทางรถยนต์ รถไฟ หรือเครื่องบิน ให้

  • ลุกขึ้นและเดินไปรอบๆ ทุกๆ 1-2 ชั่วโมง
  • ยืดขาให้บ่อยๆ
  • ดื่มน้ำให้มาก
  • อย่าสูบบุหรี่ก่อนเดินทาง
  • อย่าดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเดินทาง เพราะอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ
  • อย่านั่งไขว้ห้าง เพื่อให้เลือดเดินได้สะดวก

      ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตันที่น่าสนใจ

  • ในแต่ละปี ทั่วโลกมีการเกิดของภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตันประมาณ 10 ล้านราย
  • ในสหรัฐอเมริกา ทุกปีจะมีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตัน 100,000 - 300,000 ราย
  • ในยุโรป ทุกปีจะมีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตัน 544,000 ราย
  • ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป มีจำนวนผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตันมากกว่าการเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และอุบัติเหตุรถยนต์
  • ร้อยละ 60 ของผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำอุดตันเกิดขึ้นระหว่างหรือหลังการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

แหล่งข้อมูล:

  1. What is Venous Thromboembolism (VTE)? http://www.heart.org/en/health-topics/venous-thromboembolism/what-is-venous-thromboembolism-vte [2018, November 7].
  2. Know Thrombosis: Think venous thromboembolism. http://www.worldthrombosisday.org/issue/vte/ [2018, November 7].
  3. Venous Thromboembolism (VTE). https://www.webmd.com/dvt/what-is-venous-thromboembolism#1 [2018, November 7].