หลอดลมอักเสบ (Bronchitis)

สารบัญ

บทนำ

หลอดลมอักเสบ (Bronchitis) เป็นโรคที่เกิดจาก มีการบาดเจ็บ ระคายเคืองต่อเซลล์เยื่อเมือกที่บุภายในหลอดลมซึ่งเป็นทางเดินของลมหายใจส่วนที่นับจากท่อลม (Trachea) ลงไปจนถึงหลอดลมภายในปอด (Bronchus หรือ Bronchi)

หลอดลมอักเสบ มีได้ 2 แบบ/ชนิด ซึ่งแตกต่างกันในธรรมชาติของโรค วิธีรักษา และความรุนแรงของโรค คือ หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (Acute bronchitis) และหลอดลมอัก เสบเรื้อรัง (Chronic bronchitis)

  • หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (Acute bronchitis) ได้แก่ การอักเสบเฉียบพลันของหลอดลม ซึ่งประมาณ 90% เกิดจากการติดเชื้อไวรัส และประมาณ 10% เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทั้งนี้โดยทั่วไป มักมีอาการ ไอ มีเสมหะ และมีไข้ แต่อาการต่างๆเหล่านี้มักหายภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่บางคนยังอาจมีอาการไอต่อเนื่องได้นานถึงประมาณ 4 -8 สัปดาห์จน กว่าร่างกายจะฟื้นตัวได้เต็มที่
  • หลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic bronchitis) มักเป็นอาการไอเรื้อรังร่วมกับมีเสมหะเหนียวข้น โดยมีอาการเรื้อรังนานตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปใน 1 ปีและเกิดติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป สาเหตุหลักเกิดจากเยื่อเมือกหลอดลมได้รับการระคายเคืองต่อเนื่องเรื้อรัง เช่น จากการสูบบุหรี่ จากควันบุหรี่ และ/หรือจากมลภาวะในสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลอดลมอักเสบเรื้อรัง มักมีหลอดลมอักเสบเฉียบพลันจากการติดเชื้อแทรกซ้อนร่วมด้วยได้เสมอเป็นระยะๆ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงขึ้นมาก

หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เป็นโรคพบบ่อยทั่วโลก พบได้ในทุกอายุ และโอกาสเกิดโรคใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย จัดเป็น 1 ใน 10 โรคพบบ่อยที่เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก

หลอดลมอักเสบเรื้อรัง มักมีสาเหตุหลักที่พบได้บ่อยที่สุด คือ จากการสูบบุหรี่ ซึ่งจัดเป็นโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของทุกประเทศ โดยทั่วโลกพบโรคนี้ได้ประมาณ 2.6% ของประชากร เป็นโรคของผู้ใหญ่ พบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง และโอกาสเกิดโรคเพิ่มขึ้นตามจำนวนบุหรี่ที่สูบในแต่ละวันและระยะเวลาความต่อเนื่องในการสูบบุหรี่

หลอดลมอักเสบเกิดจากอะไร?

  • หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (Acute bronchitis) เกิดจากเมื่อมีการติดเชื้อในอวัยวะระบบทางเดินหายใจซึ่งรวมทั้งหลอดลม เชื้อโรคจะก่อให้เกิดการอักเสบ บวมของเยื่อเมือกที่บุทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดการระคายเคือง เยื่อเมือกจึงสร้างสารคัดหลั่งหรือเสมหะเพิ่ม ขึ้น จึงเกิดเป็นอาการไอ ร่วมกับการมีเสมหะ ทั้งนี้ประมาณ 90% ของหลอดลมอักเสบเฉียบ พลัน เกิดจากทางเดินหายใจและหลอดลมติดเชื้อไวรัส โดยไวรัสที่พบเป็นสาเหตุได้บ่อย คือไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัด และโรคไข้หวัดใหญ่ เช่น อะดีโนไวรัส (Adenovirus) โคโรนาไวรัส (Coronavirus) คอกซากีไวรัส (Coxsackievirus) เอนเทโรไวรัส (Enterovirus) อินฟลูเอนซาไวรัส (Influenza virus) และไรโนไวรัส (Rhinovirus) และประมาณ 10% เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งที่พบได้บ่อย คือ เชื้อบอร์ดาเทลเลียเพอร์ทัสสีส (Bordatelia pertussis) เชื้อฮี โมฟิลูส (Hemophilus influenza) เชื้อสเตรป (Streptococcus pneumoniae) และเชื้อมัยโคพลาสมา (Mycoplasma pneumonia) และอาจพบจากการติดเชื้อราได้บ้างประปราย โดยมักพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายบกพร่อง ซึ่งตัวที่จะกระตุ้นให้เกิดหลอดลมอัก เสบเฉียบพลันได้ง่ายขึ้น คือ การได้รับสารก่อการระคายเคืองต่อทางเดินหายใจต่อเนื่อง เช่น การสูบบุหรี่ ควันบุหรี่ มลภาวะต่างๆ และโรคหืด

    หลอดลมอักเสบเฉียบพลันโดยทั่วไปรักษาหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ประมาณ 25 % อาการไออาจอยู่ได้นานถึง 4 -8 สัปดาห์ ทั้งนี้ในผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ โรคอาจรุนแรงหรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนการติดเชื้อไวรัส จนก่อให้เกิด ปอดอักเสบ ปอดบวม และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งพบได้ประมาณ 5-10% ของผู้ป่วย

  • หลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic bronchitis) เกิดจากการที่หลอดลมได้รับสารก่อการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกบุภายในหลอดลมต่อเนื่องเรื้อรัง สารเหล่านี้ก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของเยื่อเมือกโดยไม่มีการติดเชื้อ เยื่อเมือกจึงสร้างสารต่างๆขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อการอักเสบ จึงก่อให้เกิดการบวมของเยื่อเมือกเรื้อรัง ร่วมกับการสร้างน้ำเมือกซึ่งจะเหนียวข้น กำจัดยาก ซึ่งทั้งจากการบวมเรื้อรังของเยื่อเมือกและการมีเสมหะเหนียวข้น จึงก่อให้เกิดอาการไอเรื้อรัง และอาการหายใจลำบากจากรู/ช่องทางเดินอากาศในหลอดลมตีบแคบลง (จากทั้งเสมหะอุดตันและจากการบวม) ร่างกายจึงเกิดภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรัง จึงก่อให้เกิดอาการเรื้อ รังต่างๆ

    หลอดลมอักเสบเรื้อรังมักรักษาหายได้ยาก และมักมีการอักเสบเฉียบพลันซ้ำซ้อนเสมอ ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษา ผู้ป่วย/โรคมักกลายเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (โรค COPD,Chronic obstructive pulmonary disease) ดังนั้นการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม จะช่วยป้องกันการลุกลามของโรคและลดโอกาสการติดเชื้อเฉียบพลันซ้ำซ้อนลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    สาเหตุหลักของการเกิดโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง คือ การสูบบุหรี่ และการหายใจเอาสารพิษเข้าไปเรื้อรัง เช่น การได้รับควันบุหรี่ และมลภาวะต่างๆ เป็นต้น

 

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดหลอดลมอักเสบ?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน คือ ผู้ที่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อโรคทางเดินหายใจ หรืออยู่ในถิ่น/ในช่วงที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ มีสุขภาพร่างกายอ่อนแอ มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ และอยู่ในที่แออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือโรงเรียน ค่ายผู้อพยพ ค่ายทหาร เป็นต้น

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหลอดลมอักเสบเรื้อรัง คือ สูบบุหรี่ ได้รับควันบุหรี่เรื้อรัง คนในเมือง คนที่ได้รับฝุ่นละอองหรือมลภาวะทางอากาศเรื้อรัง มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการมีมลภาวะในอากาศ เช่น ทำเหมืองแร่ เป็นต้น

หลอดลมอักเสบมีอาการอย่างไร?

  • อาการของหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน ที่พบได้บ่อย คือ
    • ไอ มักมีเสมหะร่วมด้วย เสมหะอาจมีสีขาว ใส สีเหลือง เขียว เทา และสีอื่นๆ ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของเชื้อที่ก่อโรค
    • อาจร่วมกับ เจ็บระคายคอ เสียงแหบ
    • อาจมีไข้ มักมีไข้ต่ำๆ แต่มีไข้สูงได้
    • อ่อนเพลีย
  • อาการของหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ที่พบได้บ่อย คือ
    • ไอเรื้อรัง มีเสมหะเหนียวข้น มักมีสีเหลือง หรือเขียว บางครั้งอาจมีเสมหะเป็นเลือดได้ ทั้งนี้ จะมีอาการนานต่อเนื่องตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปใน 1 ปี และมีอาการติด ต่อกันอย่างน้อย 2 ปี มักร่วมกับประวัติการได้รับสารก่อการระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ/หลอดลมเรื้อรัง เช่น สูบบุหรี่ หรือจากการงานอาชีพ
    • อาจหายใจมีเสียงหวีด
    • หายใจเหนื่อยหอบ หรือ หายใจลำบากเมื่อออกแรง
    • มีอาการของหลอดลมอักเสบเฉียบพลันร่วมด้วย เมื่อมีการติดเชื้อซ้ำซ้อนร่วมด้วย
 

แพทย์วินิจฉัยหลอดลมอักเสบได้อย่างไร?

โดยทั่วไปแพทย์วินิจฉัยโรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลันจาก ประวัติอาการ ประวัติการระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ และการตรวจร่างกาย แต่ในกรณีมีการไอมากร่วมกับมีไข้ อาจมีการตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์ และการตรวจเลือดซีบีซี (CBC) และ/หรือการตรวจเชื้อ และ/หรือการเพาะเชื้อจากเสมหะ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

ส่วนการวินิจฉัยโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง นอกจากการวินิจฉัยจากประวัติอาการ การสูบบุหรี่ ประวัติการทำงาน สถานที่พักอาศัยแล้ว มักมีการตรวจต่างๆเพิ่มเติม เช่น การตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจเสมหะทางห้องปฏิบัติการ อาจร่วมกับการตรวจเพาะเชื้อ การตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด (Pulmonary function test หรือ Spirometry) การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) และการตรวจเลือดดูสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบต่างๆ เช่น สาร C-reactive protein เป็นต้น

รักษาหลอดลมอักเสบอย่างไร?

การรักษาโรคหลอดลมอักเสบทั้ง 2 ชนิด คือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ

  • โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน การรักษาสาเหตุ คือ การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การให้ยาฆ่าเชื้อราเมื่อโรคเกิดจากการติดเชื้อรา ส่วนเมื่อโรคเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัส (ยาปฏิชีวนะ ฆ่าได้เฉพาะเชื้อแบคทีเรีย) การรักษาจึงเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ แต่ในการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไข้หวัดใหญ่ 2009 สามารถมียาต้านไวรัสใช้ได้ผลดี ส่วนการรักษาประคับประคองตามอาการ คือ การพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้ได้มากๆเพื่อช่วยละลายเสมหะ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้วเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่มร่วมด้วย ยาแก้ไอ ยาช่วยละลายเสมหะ ยาแก้แพ้แอนติฮิสตามีน (Anti histamine) และยาขยายหลอดลม
  • โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง การรักษาที่สำคัญที่สุด คือ การหยุดตัวที่ก่อให้เกิดการอักเสบ (ชนิดไม่ติดเชื้อ) ระคายเคืองต่อหลอดลม ที่สำคัญ คือ เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ถ้าเป็นมลภาวะจากอาชีพต้องมีหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานสากลสวมใส่ป้องกัน นอกจากนั้น การรักษาที่สำคัญอื่นๆ คือ
    • การรักษาการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อด้วยการพ่นยาต้านการอักเสบในกลุ่มสเตียรอยด์
    • การพ่นยาขยายหลอดลม
    • การรักษาประคับประคองตามอาการอื่นๆ เช่น การ ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ และการให้สูดดมออกซิเจนเป็นครั้งคราว เป็นต้น
    • การป้องกันการติดเชื้อหรือการเกิดหลอดลมอักเสบเฉียบพลันซ้ำซ้อน ซึ่งที่สำคัญ คือ
      • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีสุขภาพกาย สุข ภาพจิตที่แข็งแรง เนื่องจากโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยจึงมักมีปัญหาทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต
      • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
      • หลีกเลี่ยงแหล่งแออัด
      • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่มีวัคซีน เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อนิวโมคอกคัส (โรคไอพีดี, Invasive pneumococcal disease)
 

หลอดลมอักเสบรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

  • หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน โดยทั่วไป เป็นโรคไม่รุ่นแรง มักรักษาได้หายเสมอภายในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไอต่อเนื่องได้อีกนานประมาณ 2-4 สัปดาห์ บางรายอาจถึง 8 สัปดาห์ได้ แต่ทั้งนี้มักไม่ใช่อาการไอรุนแรง อย่างไรก็ตามในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องหรือต่ำ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอาจรุน แรงและ/หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ซ้ำซ้อน ส่งผลให้เกิดผลข้างเคียง คือ ปอดอักเสบ ปอดบวม และเป็นสาเหตุเสียชีวิตได้ประมาณ 5-10%
  • หลอดลมอักเสบเรื้อรัง มักเป็นโรคที่รักษาไม่หาย เพราะเมื่อเนื้อเยื่อหลอดลมเสียหายและถูกทำลายไปแล้ว มักจะเสียหายถาวร แต่การรักษาจะช่วยหยุดหรือชะลอการทำลายเพิ่มเติมลงได้ ดังนั้นการรักษาโรคตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น จึงได้ผลในการควบคุมโรคได้ดีกว่าการรักษาเมื่อพยาธิสภาพของหลอดลมและปอดเสียหายไปมากแล้ว อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยที่รักษาควบคุมโรคไม่ได้ หลอดลมและปอดจะค่อยๆถูกทำลายไปเรื่อยๆจนในที่สุดเกิด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และเกิดภาวะหายใจล้มเหลวซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
 

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ เมื่อมีอาการต่างๆดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ ซึ่งภายหลังการดูแลตนเองแล้วอาการต่างๆไม่ดีขึ้นใน 2-3 วันควรพบแพทย์เสมอ หรือเมื่ออาการเลวลง ก็ควรรีบพบแพทย์ ไม่ควรรอจนถึง 2-3 วัน

  • โดยทั่วไป การดูแลตนเองและการพบแพทย์ เมื่อเป็นโรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่
    • การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
    • พักผ่อนให้เพียงพอ
    • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้วเมื่อแพทย์ไม่ได้ห้ามการจำกัดน้ำดื่ม
    • กินยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ ยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol) เมื่อมีไข้ โดยอาจซื้อยากินเองได้ แต่ต้องปรึกษาเภสัชกรร้านขายยาก่อนเสมอ
    • ควรพบแพทย์เสมอเมื่อ ดูแลตนเองแล้วอาการต่างๆไม่ดีขึ้นใน 2-3 วัน แต่ถ้าอาการต่างๆเลวลง ควรรีบพบแพทย์ไม่ต้องรอจนถึง 2-3 วัน
    • ในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ควรรีบพบแพทย์เสมอ เมื่อดูแลตนเองแล้ว อาการต่างๆไม่ดีขึ้นใน 24 ชั่วโมง
  • การดูแลตนเองและการพบแพทย์ เมื่อเป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ที่สำคัญที่สุด คือ หยุดสิ่งที่เป็นสาเหตุ เช่น หยุด/เลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันและมลภาวะต่างๆ ถ้าเป็นอาชีพที่ต้องมีมลภาวะ ต้องสวมหน้ากากอนามัยตามลักษณะมลภาวะที่ได้มาตรฐานสากล นอกจากนั้น คือ ดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจซ้ำซ้อน (การเกิดหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน) เนื่องจากจะส่งผลให้อาการผู้ป่วยกำเริบ และรุนแรง ซึ่งที่สำคัญ คือ
    • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
    • กินยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
    • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ตนเองมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี เนื่องจากการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง จะส่งผลทั้งด้านร่างกายและด้านจิตใจ
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ หรือตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
    • กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
    • หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด และมลภาวะต่างๆ
    • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
    • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณ สุข ที่สำคัญ คือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่
    • พบแพทย์ตามนัดเสมอ
    • พบแพทย์ก่อนนัดเมื่ออาการต่างๆเลวลง หรือ ผิดไปจากเดิม หรือเมื่อกังวลในอา การ
 

ป้องกันหลอดลมอักเสบอย่างไร?

  • การป้องกันโรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วในการดูแลตนเอง ซึ่งที่สำคัญ คือ
    • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
    • ไม่ใกล้ชิด คลุกคลี กับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ
    • รู้จักใช้หน้ากากอนามัยเมื่อต้องใกล้ชิดผู้ป่วย หรือเมื่ออยู่ในที่แออัดในช่วงที่มีการระบาดของโรคทางเดินหายใจ
    • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคทางเดินหายใจที่มีวัคซีนเมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยง คือ กลุ่มที่มีภูมิ คุ้มกันต้านทานโรคต่ำดังกล่าวแล้ว
  • การป้องกันโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่สูบบุหรี่ เมื่อสูบต้องเลิกสูบ และหลีกเลี่ยงการได้รับมลภาวะเรื้อรัง เช่น ควันบุหรี่ หมอกควันต่างๆ และเมื่อต้องได้รับหมอกควันจากการงานอาชีพ ต้องใส่หน้ากากอนามัยตามชนิดหมอกควันที่ได้มาตรฐานสากล
 

บรรณานุกรม

  1. Bronchitis http://en.wikipedia.org/wiki/Bronchitis [2013,July18].
  2. Cerveri, I. et al. (2001). Variations in the prevalence across countries of chronic bronchitis and smoking habits in young adults.Eur Respir J.18, 85-92.
  3. Chronic bronchitis http://en.wikipedia.org/wiki/Chronic_bronchitis [2013,July18].
  4. Fayyaz,J. et al . Bronchitis http://emedicine.medscape.com/article/297108-overview#showall [2013,July18].
  5. Knutson, D., and Braun, C. (2002). Diagnosis and management of acute bronchitis. Am Fam Physician. 65, 2039-2044.
Updated 2013, July 18