หยุดบุหรี่ หยุดเสี่ยง (ตอนที่ 1)

โฆษณาเพื่อรณรงค์การเลิกสูบบุหรี่กำลังเป็นที่แพร่หลายในอังกฤษว่า การสูบบุหรี่มีผลเสียกับอวัยวะสำคัญๆ เช่น สมอง และ ปอด โดยโฆษณาเตือนให้เห็นว่า การสูบบุหรี่ทำให้เลือดสกปรกและเต็มไปด้วยมลพิษที่หมุนเวียนไปทั่วร่างกาย เป็นการเพิ่มโอกาสของความเสี่ยงในการอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมอง (Stroke)

ซึ่งหากคุณได้เห็นถึงการทำลายล้างนี้แล้วคุณจะต้องเลิกสูบบุหรี่ เพราะคนสูบบุหรี่มีโอกาสตายเพราะการอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมองมากกว่าคนที่ไม่สูบถึง 2 เท่า นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังทำให้เกิดปัญหาเรื่องความจำและโรคสมองเสื่อม (Dementia)

ศาตราจารย์ Dame Sally Davies กล่าวว่า เราทุกคนรู้ถึงผลเสียของการสูบบุหรี่ที่มีต่อหัวใจและปอด และนักสูบทุกคนจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าการสูบมีผลต่อสมองและอวัยวะสำคัญอื่นๆ อย่างไร เมื่อบุหรี่ทำให้เกิดสารพิษ (Toxins) ในเลือด

ทั้งนี้เพราะการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุใหญ่ของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งหากมีการเลิกสูบบุหรี่ไป 5 ปี ความเสี่ยงที่จะเกิดการอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมองก็จะลดลงเหลือเท่ากับคนที่ไม่สูบ

ศาตราจารย์ Kevin Fenton กล่าวว่า น้ำมันดิน (Tar) สารหนู (Arsenic) แอมโมเนีย (Ammonia) และไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) ล้วนมีผลต่อการทำลายหลอดเลือด เพราะสามารถทำให้เกิดมะเร็งได้

John Lee อดีตนักสูบบุหรี่อายุ 42 ปี ผู้ซึ่งประสบกับภาวะการอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมองทำให้มีอาการอัมพาตซีกซ้าย ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวบีบีซีว่า อาการนั้นจู่ๆ ก็เกิดขึ้นทันทีทันใด ยากที่จะอธิบายได้ เพราะไม่ได้มีผลต่อตนเองเท่านั้น ยังมีผลกระทบต่อคนที่รักรอบๆ ตัว เพราะอาการอัมพาตนี่เองที่ทำให้เขาไม่สามารถที่จะวิ่งเตะบอลกับลูกได้อีก ทำให้ชีวิตคู่ต้องพังลง และเขาเตือนว่าอย่าหัดสูบบุหรี่เลยจะดีกว่า

จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่เลิกบุหรี่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มประมาณ 2.7-5.9 กิโลกรัม ในระยะเวลา 6 เดือนแรก

แม้ว่าการเลิกสูบบุหรี่จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ก็ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจได้ ซึ่งหากเกรงว่าน้ำหนักจะขึ้นก็สามารถใช้ตัวช่วย เช่น การสูดดมนิโคตีน (Nicotine inhalator) หมากฝรั่ง ยาอม (Lozenges) เพื่อลดความอยากในอาหารแทนการสูบบุหรี่

Dr James Meigs ผู้เขียนหนังสือที่ Harvard Medical School กล่าวว่า ปัจจุบันไม่เคยมีคำถามเลยว่า การหยุดสูบบุหรี่มีผลดีต่อหัวใจของผู้ป่วยอย่างไร แม้ผู้ป่วยจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มไปบ้างก็ตาม

วารสาร Science Translational Medicine ได้เปิดเผยถึง ผลการทดลองในหนูว่า หลังจากที่ได้มีการฉีดวัคซีนที่ต้านนิโคตินเข้าไปในตัวหนูแล้วพบว่า สารนิโคตินในสมองหนูลดลงประมาณร้อยละ 85 ซึ่งงานวิจัยเพื่อช่วยรักษาการติดนิโคตินอย่างเรื้อรัง คงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่จะทดลองในคนได้

การทำงานของวัคซีนเลิกสูบ (Smoking vaccines) จะช่วยฝึกให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายหลั่งสารแอนติบอดีย์ (Antibodies) เพื่อจับนิโคติน ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกันกับการใช้วัคซีนรักษาโรค และหากมีการหันกลับไปสูบบุหรี่ ก็จะไม่มีความรู้สึกชอบอีก ทำให้สามารถเลิกบุหรี่ได้

แหล่งข้อมูล:

  1. Quit smoking adverts highlight toxic risk to brain. http://www.bbc.co.uk/news/health-25505491 [2014, January 1].
  2. Quitting smoking 'cuts heart risk despite weight gain'. http://www.bbc.co.uk/news/health-21757875 [2014, January 1].
  3. 'Smoking vaccine' blocks nicotine in mice brains. http://www.bbc.co.uk/news/health-18608666 [2014, January 1].