หมาก็บ้า คนก็ตาย (ตอนที่ 2)

หมาก็บ้าคนก็ตาย

เมื่อเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะอาศัยอยู่ในกล้ามเนื้อและชั้นใต้ผิวหนังซึ่งเป็นชั้นไขมัน (Subcutaneous tissue) โดยเชื้อจะแบ่งตัวก่อนที่จะแพร่ไปยังระบบประสาท ไขสันหลัง และสมอง และเมื่อเชื้อเข้าถึงระบบประสาทส่วนกลางได้แล้ว เชื้อจะแบ่งตัวอย่างรวดเร็วและแพร่ไปยังต่อมน้ำลาย ปอด ไต และอวัยวะอื่นๆ ทั้งนี้โดยมีระยะเวลาในการฟักตัวประมาณ 1-3 เดือน

เมื่ออาการเริ่มปรากฏ นั่นหมายความว่า โรคได้พัฒนาไปมากจนใกล้จะทำให้คนๆ นั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น คนที่ถูกสัตว์กัดจึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยเร็ว

อาการสามารถปรากฏได้เร็วที่สุดภายใน 1 สัปดาห์หลังการติดเชื้อ โดยอาการเบื้องต้นของโรคพิษสุนัขบ้าอาจจะดูคล้ายอาการเป็นหวัด และอาการทั่วไปที่เกิดขึ้น ได้แก่

  • เป็นไข้
  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • หงุดหงิด กระสับกระส่าย (Agitation)
  • วิตกกังวล (Anxiety)
  • สับสน (Confusion)
  • อยู่ไม่นิ่ง อยู่ไม่สุข (Hyperactivity)
  • กลืนลำบาก
  • น้ำลายไหลมาก
  • กลัวน้ำ (Hydrophobia)
  • ไวต่อแสง (Photophobia)
  • กลัวลม (Aerophobia)
  • ประสาทหลอน (Hallucinations)
  • นอนไม่หลับ (Insomnia)
  • เป็นอัมพาตบางส่วน (Partial paralysis)

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้า ได้แก่

  • การมีกิจกรรมที่ต้องสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น การสำรวจถ้ำที่มีค้างคาวอาศัยอยู่ เป็นต้น
  • การทำงานในห้องแล้ปที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า
  • ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ คอ หรือ มือ ซึ่งอาจทำให้เชื้อเดินทางเข้าสู่สมองได้เร็วขึ้น

แหล่งข้อมูล

1. Rabies. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/rabies/basics/definition/con-20019900 [2016, September 18].

2. Rabies. http://www.nhs.uk/Conditions/Rabies/Pages/Introduction.aspx [2016, September 18].

3. Rabies. http://www.medicinenet.com/rabies_virus/article.htm [2016, September 18].