หมอ(รักษาโรคประสาท) ตอนที่ 8 ยาเป็นกระสอบ

หมอรักษาโรคประสาท

แต่ละวันผมจะตรวจผู้ป่วยเฉลี่ยวันละ 40 คนโดยประมาณ ก็ถือว่าไม่มากนัก ถ้าเทียบกับแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลจังหวัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มารับการรักษากับผมนั้นมักจะเป็นผู้ป่วยที่รับการรักษามาแล้วจากโรงพยาบาลชุมชนหรือไม่ก็โรงพยาบาลจังหวัด บางคนก็มาจากโรงพยาบาลเอกชน จากคลินิกต่างๆ มีน้อยมากๆ ที่จะไม่เคยรับการรักษาจากที่ไหนมาก่อนเลย

ดังนั้นเมื่อผมเริ่มให้การรักษาผู้ป่วยแต่ละรายนั้น ผมก็ต้องเริ่มจากการสอบถามประวัติการเจ็บป่วยให้ละเอียด ตั้งแต่ต้นที่เริ่มเจ็บป่วยว่าอาการเริ่มต้นเป็นอย่างไร และที่ผ่านมานั้นได้ไปรับการรักษาที่ไหนมาก่อนหรือไม่ เพราะประวัติการรักษามานั้นมีความสำคัญมากๆ เนื่องจากถ้าผู้ป่วยได้รับการตรวจรักษาเบื้องต้นมาแล้ว ก็จะมีผลการตรวจต่างๆ ไม่ว่าตรวจเลือด ตรวจเอกซเรย์ต่างๆ รวมทั้งยาชนิดต่างๆ ที่ได้รับมา เพราะจะส่งผลต่อการให้การวินิจฉัย การรักษาและการดำเนินโรค หลายต่อหลายคนพอผมได้สอบถามว่าได้ทำอะไรมาบ้างแล้ว ได้ยาอะไรมาบ้างแล้ว สิ่งที่ผู้ป่วยหรือญาติได้นำมาให้ผมดูนั้น ผมถึงกับอึ้งไปเลย เพราะสิ่งที่ผู้ป่วยหรืญาตินำมานั้นคือเอกสารเป็นถุงๆ หรือหลายๆ แฟ้ม ไม่ว่าจะเป็นเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เอมอาร์ไอ ผลตรวจเลือดทุกชนิด และที่สำคัญคือยาที่ได้รับมาก่อนครับ ที่ว่าอึ้งมากๆ ก็คือยาเป็นถุงๆ ถุงใหญ่ๆทั้งสิ้น หรือถ้าพูดให้เห็นภาพชัดเจน อาจเรียกได้ว่าเป็นกระสอบก็ไม่ผิดครับ

ผู้ป่วยมักจะเริ่มต้นจากการได้รับยาจากโรงพยาบาลใกล้บ้าน คลินิกหมอที่อำเภอ โรงพยาบาลจังหวัด คลินิกหมอที่จังหวัดและคลินิกอื่นๆ ที่คนรู้จักแนะนำ บางครั้งยาที่ได้รับมานั้นยังไม่ได้ทานเลยก็มี เช่น ตอนเช้าพบหมอที่โรงพยาบาล พอตอนเที่ยงก็ไปพบหมอที่คลินิกอีก ผมพบเหตุการณ์แบบนี้เป็นประจำ ได้สอบถามเหตุผลกับผู้ป่วยและญาติว่าทำไมต้องพบหมอบ่อยขนาดนี้ ยาที่ได้มายังไม่ได้ทานเลยจะรู้ได้อย่างไรว่าจะหายหรือไม่ เมื่อได้ยามามากมายแบบนี้จะทานยาอย่างไร ยาก็อาจจะซ้ำซ้อนกัน ผู้ป่วยก็ตอบผมว่า “ ที่ลุงต้องมาพบหมอหลายๆ คนแบบนี้ ก็เพื่อให้มันสุด ๆครับ ไหนๆ ก็มาแล้วก็ต้องพบหมอหลายๆ ที่ หลายๆ คน จะได้สุดๆ ส่วนเรื่องยาที่ทานนั้น ลุงก็จะทานของหมอที่ลุงฟังแล้วว่าน่าเชื่อถือมากที่สุด หรือไม่ก็เป็นยาชุดสุดท้ายของหมอคนสุดท้ายที่พบ” ทำเอาผมอึ้งไปอีกรอบครับ

ดังนั้นผมจึงต้องค่อย ๆ ดูว่ายาที่ได้รับมานั้นเป็นยาอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้แนะนำได้ถูกต้อง และจะได้ไม่เกิดการซ้ำซ้อนของยาที่ได้รับมา ส่วนใหญ่แล้วยาที่ได้รับมาจากโรงพยาบาลนั้นก็สามารถบอกได้ว่าเป็นยาอะไรบ้าง เพราะที่ซองจะมีชื่อยาและวิธีทานยา แต่ถ้าเป็นยาจากคลินิกก็ยากหน่อย เพราะส่วนใหญ่แล้วมักไม่มีชื่อยาที่ซองยา ต้องดูจากรูปลักษณ์ของเม็ดยา วิธีทานยาก็พอจะบอกได้บ้าง แต่บางครั้งก็ไม่สามารถบอกได้เลยว่าเป็นยาอะไร ถ้าบอกไมได้ก็จะแนะนำให้หยุดยานั้นไว้ก่อน

ผมอยากจะบอกว่าการดูแลตนเองเมื่อมีอาการเจ็บป่วยที่ถูกต้องนั้น ก็คือการพบแพทย์ที่ใกล้บ้าน เพื่อให้เกิดความสะดวกมากที่สุด แต่ถ้าผลการรักษานั้นไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น ก็ควรปรึกษาแพทย์ที่ให้การรักษาว่าได้ให้การวินิจฉัยว่าตนเองเป็นโรคอะไร ได้ยาอะไรมาบ้างหรือได้ตรวจเลือดอะไรมาแล้วบ้าง เพื่อที่การรักษาในขั้นตอนต่อมา เช่น การมาพบแพทย์ที่คลินิกหรือโรงพยาบาลจังหวัด แพทย์ที่รับการรักษาต่อจะได้ทราบข้อมูลมาประกอบการวินิจฉัย และให้การรักษาต่อเนื่องได้เลย เช่น เคยได้รับยาชนิดหนึ่งมาแล้วและอาการไม่ดีขึ้นเลย ดังนั้นแพทย์ที่มาให้การรักษาต่อ ก็จะได้ไม่ให้ยาชนิดนั้นอีก เป็นต้น

การขอพบแพทย์ที่ให้การรักษาเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นนั้น เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมากในการรักษาต่อเนื่อง แต่ผู้ป่วยและญาติส่วนใหญ่มักไม่กลับไปพบแพทย์ท่านเดิมอีก ด้วยความกังวลใจว่าแพทย์จะไม่บอกข้อมูล กลัวว่าแพทย์จะต่อว่า หาว่าไม่เชื่อหมอจะมาหาหมออีกทำไม ผมจึงต้องค่อยๆ แนะนำผู้ป่วยและญาติเสมอว่า เหตุผลที่ทำไมต้องกลับไปพบแพทย์ท่านเดิมอีก ถึงแม้ผลการรักษาจะไม่ดีขึ้นก็ตาม

ผมได้เรียนรู้อะไรบ้างจากเรื่องนี้ คือ ได้เรียนรู้ถึงวิธีคิดของผู้ป่วยและญาติ ทำความเข้าใจเหตุผลต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุการณ์จริง ความจริงในชีวิตของการเป็นแพทย์ เพื่อนำมาบอกเล่าให้นักเรียนแพทย์ แพทย์และผู้อ่านทุกท่าน นำไปศึกษาต่อว่าควรทำอย่างไร เมื่อพบผู้ป่วยและญาติที่มารับการรักษากับเรา จะได้เข้าใจเหตุผลของผู้ป่วยและญาติได้ดียิ่งขึ้น เมื่อแพทย์มีความเข้าใจผู้ป่วยและญาติก็ทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดี ทำให้การรักษาต่างๆ เป็นไปด้วยดี สำหรับผู้อ่านเรื่องนี้ ผมก็อยากให้ทุกท่านนำข้อเสนอแนะของผมไปคิดและไตร่ตรองว่า ถ้าเราเจ็บป่วยเราควรจะทำอย่างไร เพื่อให้ผลการรักษานั้นดีที่สุด โชคดีครับคนไทย ไม่เจ็บไม่ป่วยดีที่สุด