หมอ (รักษา) โรคประสาท ตอนที่ 31 เหตุผลที่คาดไม่ถึง

หมอรักษาโรคประสาท

“สวัสดีครับ สบายดีหรือเปล่าช่วงนี้ มีอาการชักกี่ครั้งครับในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา” เป็นประโยคที่ผมสอบถามอาการของผู้ป่วยลมชักท่านหนึ่งที่รักษากันมานาน แต่ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ ผู้ป่วยดูไม่ค่อยสดชื่น หน้าตาเศร้าหมองพอสมควร แล้วตอบผมว่า

“ผมไม่ค่อยสบายครับหมอ ช่วงนี้มีเรื่องกลุ้มใจมากครับ คือ ผมกับภรรยาเพิ่งหย่ากันครับ ผมเสียใจมากเลยครับ ทำให้นอนไม่หลับ จึงชักมากขึ้น สุขภาพแย่มากครับ” ผมจึงไม่ค่อยกล้าถามอะไรมากนัก เพราะอารมณ์ของผู้ป่วยอยู่ในความเศร้า และอาจซึมเศร้าด้วย ผู้ป่วยได้เล่าต่อว่า “อย่างที่หมอรู้มาตลอด ว่าอาการของผมตั้งแต่ที่มารักษาเกือบ 3 ปีนั้น ยังไม่สามารถควบคุมอาการชักได้เลย ผมต้องเพิ่มยามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีการเพิ่มยาในแต่ละครั้ง ผมก็จะมีอาการง่วงซึม ไม่สามารถไปทำงานได้ในช่วงแรกของการปรับยากันชัก แต่ปัญหามันมีมากกว่านั้นอีกครับ คือว่า ภรรยาผมเขาชอบเดินทางขับรถเที่ยวไปตามที่ต่างๆ ในช่วงวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุดยาวๆ แต่ผมเองไม่สามารถช่วยเขาขับรถได้ เพราะมีอาการชักบ่อยๆ แถมในบางครั้งก็ไม่สามรรถไปเที่ยวกับเขาได้ เพราะมีอาการชักบ่อยๆ ในช่วงที่เขาจะไปเที่ยว ก้เลยทำให้เขาไม่ได้ไปเที่ยวด้วยทำให้เขาเสียใจและหงุดหงิดในบางครั้ง แต่ว่าช่วงหลังมันบ่อยมากขึ้น เราก็เริ่มมีปากเสียง ทะเลาะกันบ่อยมากขึ้น”

ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ได้แต่พูดให้กำลังใจเขาว่าโรคนี้ยังมีทางรักษาได้ครับ ผมจะพยายามหายาใหม่ๆ มารักษาให้ดีขึ้น ตอนนี้มียากันชักชนิดใหม่ที่เขาเพิ่งนำมาศึกษาทั่วโลก และจะนำมาศึกษาในคนเอเชีย รวมทั้งคนไทยด้วย ผมดูผลการศึกษาเบื้องต้นแล้วให้ผลดีมาก เมื่อผมได้แนะนำไปอย่างนั้นเสร็จ ทางผู้ป่วยก็บอกผมว่า

“ขอบคุณครับหมอที่พยายามหาวิธีการรักษาใหม่ๆ ให้ผม แต่ว่าตั้งแต่ที่ผมทานยาตัวใหม่ที่หมอให้ผมไปเมื่อ 3 เดือนก่อน ผมก็เกิดปัญหาใหม่ขึ้นครับ และก็เป็นปัญหาที่ใหญ่มากสำหรับผม คือ น้องชายผมไม่ทำงานเลยครับ ก่อให้เกิดปัญหามากๆ ครับ ผมกับภรรยาไม่ได้มีกิจกรรมทางเพศกันเลย ตั้งแต่ที่หมอปรับยาตัวใหม่ให้ผม ถ้าหมอมียาตัวใหม่อีกและยานั้นมีผลเสียแบบนี้ ผมรับไม่ได้นะครับ เพราะการที่ผมไม่ได้มีอะไรกับภรรยามา 3 เดือนนี้ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราทะเลาะกันบ่อยๆ มากขึ้น เขามีความเครียดครับ ผมเองก็เครียดมากขึ้นมากๆ ครับ เราก็เลยทะเลาะกันบ่อยมากขึ้นครับ ผมเองไม่มั่นใจว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาขอหย่ากับผมหรือไม่ ผมแย่มากๆ ครับหมอ”

สุดท้ายในวันนั้นผมก็ไม่ได้ปรับยากันชักให้ผู้ป่วย ได้แต่ทำการปรับทุกข์ครับ เพื่อให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่ดีขึ้น ลดความเศร้าหมองและภาวะซึมเศร้าลงบ้าง ชีวิตคนเรามันซับซ้อนครับ แค่ลมชักอย่างเดียวก็หนักหนาแล้ว ยังมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีก อย่างที่มีการศึกษากันไว้ว่า ผู้ป่วยลมชักเองนั้นมีความทุกข์จากการชักไม่ถึงครึ่งของความทุกข์ที่เกิดจากคนรอบข้างหรือสังคมก่อให้เกิดกับผู้ป่วยลมชัก ดูเหมือนจะจริงครับ