หมอ(รักษา)โรคประสาท ตอนที่ 3 หมอระบบประสาท หมอจิตแพทย์ต่างกันอย่างไร?

หมอรักษาโรคประสาท

หลายต่อหลายคนสงสัยว่าหมอระบบประสาท กับหมอจิตเวช(จิตแพทย์/หมอโรคจิต)แตกต่างกันอย่างไร ปวดหัวมานานรักษาไม่หาย จะพบหมอไหนดี แขนขาอ่อนแรง จะพบหมอไหนดี คิดไม่ออก จำอะไรไม่ค่อยได้พบหมอไหนดี ผมจะค่อยๆ เล่าอธิบายให้ฟังครับ

หมอระบบประสาทจะทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับสมอง เส้นประสาท ไขสันหลัง กล้ามเนื้อเป็นหลัก ส่วนจิตแพทย์หรือหมอจิตเวชนั้นจะทำหน้าที่ดูแลปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับความคิด อารมณ์ วิตกกังวล การรับรู้ผิดปกติ พฤติกรรม การตัดสินใจ การเรียนรู้ สติปัญญา เป็นต้น ส่วนแพทย์ศัลยกรรมระบบประสาทและสมอง ก็จะชัดเจนมากว่า คือ ดูแลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางระบบประสาทสมองและไขสันหลัง ซึ่งมีความจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น เนื้องอกสมอง เลือดออกในสมอง เส้นประสาทถูกกดทับ เป็นต้น

ปัญหาในชีวิตจริงที่พบ คือ ผู้ป่วยเมื่อมีความผิดปกติทางระบบประสาทหรืออาการที่น่าสงสัย ก็จะมีความคิดหรือคาดการว่าตนเองนั้นเป็นโรคโน้นโรคนี้ ตามประสบการณ์ที่เคยมีหรือมีคนใกล้ชิด เพื่อนๆ แนะนำ ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการรักษาหรือพบแพทย์ผิดสาขาก็ทำให้การวินิจฉัยไม่ได้ และส่งผลต่อการรักษานั้นไปเลย

ในมุมมองของผมนั้น ผมมีข้อเสนอแนะว่า เมื่อเรามีอาการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรงก็ควรเริ่มด้วยการดูแลตนเอง สังเกตอาการว่ามีแนวโน้มอย่างไร ถ้าไม่สบายเล็กน้อย เช่น ปวดหลังเพียงเล็กน้อย กิจกรรมต่างๆ ก็ยังทำได้ปกติ ไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ เลย ถ้าสังเกตอาการแล้วพบว่า อาการดังกล่าวค่อยๆ ดีขึ้น อย่างนี้ก็ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์เลย แต่ถ้าอาการนั้นไม่ดีขึ้น รุนแรงมาก เป็นแบบเฉียบพลัน ส่งผลต่อการทำกิจกรรมหรือการใช้ชีวิต เป็นๆ หายๆ แบบนี้ละก็ต้องพบแพทย์

แล้วจะพบแพทย์สาขาไหนดี ผมแนะนำว่าถ้าเรามีแพทย์ที่เราพบเป็นประจำ เช่น มีแพทย์ที่ดูแลครอบครัวเราเป็นประจำมีความคุ้นเคย แพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเรา เราควรปรึกษาหรือเข้ารับการตรวจกับแพทย์ตามระบบปกติ ถ้าฉุกเฉินก็รีบเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด ผมเชื่อมั่นว่าแพทย์จะสามารถให้การรักษาหรือคำแนะนำเบื้องต้น หรือสันนิษฐานว่าเราเป็นโรคอะไร และให้การรักษาถ้าไม่เกินศักยภาพของแพทย์ท่านนั้น แต่ถ้าเกินศักยภาพ ก็จะเข้าสู่ระบบการส่งตัวเพื่อรับการรักษาต่อไปในโรงพยาบาลที่มีความสามารถสูงกว่า ที่มีความพร้อมในด้านแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ปัญหาที่ผมพบเป็นประจำคือ การที่ผู้ป่วยไม่เชื่อมั่นระบบการรักษา การส่งต่อของโรงพยาบาลใกล้บ้าน มีความเชื่อมั่นว่าต้องรับการรักษาที่คลินิกของแพทย์ส่วนตัวจะได้รับการรักษาที่รวดเร็ว ถูกต้องดีกว่า ทำให้ในบางกรณีผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่ล่าช้า สิ้นเปลืองได้

ท่านไม่มีทางทราบได้ว่าอาการผิดปกติที่ท่านเป็นนั้นมีสาเหตุจากโรคอะไร ควรพบแพทย์อะไร เพราะบางครั้งอาการผิดปกติอย่างเดียวกัน แต่อาจมีสาเหตุของการเจ็บป่วยนั้นแตกต่างกันเลย จึงอยากให้ท่านเข้ารับการรักษาตามระบบ และโปรดมั่นใจว่าแพทย์ส่วนใหญ่แล้วมีความสามารถในการดูแลรักษาปัญหาสุขภาพเบื้องต้นได้เหมือนกันทุกท่านครับ

โชคดีไม่เจ็บป่วยครับ