หมอ(รักษา)โรคประสาท ตอนที่ 20 น้องชายสู้ได้เปล่า

หมอรักษาโรคประสาท

ผมดูแลผู้ป่วยส่วนใหญ่แล้วมีแต่ผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ และก็เป็นโรคอัมพาตด้วย บางคนพอเดินได้ ช่วยเหลือตนเองได้ แต่ผู้ป่วยบางคนก็ช่วยเหลือตนเองไม่ได้เลย ผมเลยแทบไม่เคยคิดถึงว่าผู้ป่วยคนไหนจะสนใจเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ จนวันหนึ่งผมมีผู้ป่วยชายอายุ 65 ปี เป็นโรคอัมพาต แต่อาการดีขึ้นมาก สามารถทำกิจกรรมทุกอย่างได้ด้วยตนเอง มีอาการอ่อนแรงเพียงเล็กน้อย หลังจากรักษากับผมมาเกือบหนึ่งปี อาการดีขึ้นมากๆ จนเกือบหายเป็นปกติเลยก็ว่าได้ วันหนึ่งผมก็ตรวจผู้ป่วยตามปกติ พอถึงคิวของคุณลุงท่านนี้ ท่านก็ให้ผมปิดม่านห้องตรวจ เพื่อการเป็นส่วนตัวระหว่างหมอกับผู้ป่วย

“หมอครับ ผมขอถามคุณหมอเรื่องนึงครับ คือว่า น้องชายผมช่วงนี้ขยันมากขึ้น ตื่นแต่เช้าเลย แต่ผมยังไม่กล้าให้น้องชายผมทำงานเต็มที่นะ กะว่ามาถามหมอวันนี้ก่อนว่า น้องชายผมจะออกศึกได้หรือเปล่า” มาแบบนี้อีกแล้วครับ น้องชายขยัน น้องชายออกศึก ถ้าผมไม่เคยเจอประโยคแบบนี้มาก่อน ก็คงหน้าแตกอีก แต่คราวนี้ไม่พลาดครับ ผมตอบด้วยความมั่นใจเลยครับ

“หมอว่าเรื่องแบบนี้ไม่ห้ามครับ ถ้าน้องชายเราตื่นตัวดี ขยันด้วย ก็น่าจะออกศึกได้ครับ แต่ว่าอย่ากรำศึกบ่อยนะครับ ที่สำคัญคืออย่าใช้ยาปลุกน้องชายนะครับ อันตรายมากเลย” ผู้ป่วยยิ้มอย่างมีความสุขมากเลย และพูดอีกประโยคเด็ดคือ “ครั้งหน้าผมจะจดบันทึกมาให้หมอทราบว่า ผมออกศึกบ่อยแค่ไหน ผมว่าอาจชนะหมอก้ได้นะ”

ผมดีใจนะครับ ที่ผู้ป่วยมีความสุขดี เรื่องการมีเพศสัมพันธ์นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แพทย์เราเองแทบไม่ได้พูดคุยกับผู้ป่วยเลยเพราะเราคิดว่าเมื่อเจ็บป่วยแล้ว เรื่องอย่างว่านี้คงไม่มี แต่ไม่จริงครับ เรื่องเพศสัมพันธ์นั้นเป็นปัญหาที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่ง จาการสอบถามผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัญหาโรคทางระบบประสาท พบว่าเกือบ 1 ใน 3 นั้นยังให้ความสำคัญและสนใจกับเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ แต่ไม่กล้าถาม กลัวหมอจะว่า

ดังนั้นการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เริ่มสนิทกัน ผู้ป่วยไว้ใจเรา ผมเองก็จะเริ่มสอบถามเรื่องดังกล่าว เพื่อให้คำแนะนำที่ถูกต้อง เพราะถ้าผู้ป่วยไม่เข้าใจและคิดไปเองทั้งหมด อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น ไปหาซื้อยาปลุกอารมณ์มาทานหรือยาที่ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว ซึ่งผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงห้ามใช้โดยเด็ดขาด

เรื่องของน้องชายนั้นไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่ก็ต้องเดินทางสายกลางนะครับ อย่าหักโหม แค่พอประมาณครับ