หมอ(รักษา)โรคประสาท ตอนที่ 16 หมดตัวแล้วครับ

หมอรักษาโรคประสาท

นอกจากผมให้ตรวจรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลของรัฐแล้ว ก็ยังให้การปรึกษาดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลเอกชนด้วย ผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนนั้น มีหลายกลุ่ม กล่มแรกคือกลุ่มนักธุรกิจ พ่อค้า คนมีฐานะดีในจังหวัด ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ไม่มีปัญหาเรื่องฐานะทางการเงิน กลุ่มที่สองคือกลุ่มผู้ป่วยที่มีประกันชีวิต ถ้าไม่นอนรักษาในโรงพยาบาลก็เบิกค่ารักษาไม่ได้ กลุ่มที่สามคือกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาอย่างรวดเร็ว เพราะเข้าใจว่าการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนจะรวดเร็วกว่าโรงพยาบาลของรัฐบาล เพราะผู้ป่วยมีจำนวนไม่มาก

อย่างไรก็ตามการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ย่อมมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่าในโรงพยาบาลของรัฐแน่นอน เพราะการรักษาในโรงพยาบาลรัฐนั้น แทบจะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เลย วันหนึ่งผมไปรับปรึกษาผู้ป่วยโรคอัมพาตอ่อนแรงด้านขวาของร่างกาย ไม่สามารถพูดได้ ทานอาหารไม่ได้และต้องใส่ท่อช่วยหายใจกับเครื่องช่วยหายใจ เพราะมีการสำลักอาหาร จึงต้องได้ยารักษาการติดเชื้อ นอนรักษาในห้องไอซียู ทำให้เสียค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก

ตอนที่ผมไปตรวจรักษาผู้ป่วยก็ได้สอบถามสาเหตุของการปรึกษา เพราะเท่าที่ดูแล้วแพทย์ที่ให้การรักษาก็ได้ทำอย่างเต็มที่แล้ว ทำหมดทุกอย่างที่ผู้ป่วยควรจะได้รับ และเป็นไปตามมาตรฐานระดับสูง คำตอบที่ได้ไม่เกินความคาดหมาย คือ ต้องการให้ผมรับย้ายมานอนรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีความคิดและเข้าใจว่า การนอนรักษาในโรงพยาบาลเอกชนเป็นทางลัดทางหนึ่งที่จะให้อาจารย์แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐรับย้ายมารักษาในโรงพยาบาลของรัฐ

เมื่อผมได้พูดคุยกับญาติผู้ป่วย ได้อธิบายให้เข้าใจว่าขั้นตอนในการรักษาที่เหมาะสม คือ การย้ายจากโรงพยาบาลเอกชนไปยังโรงพยาบาลของรัฐ เพื่อให้การรักษาตามสิทธิ์การรักษาของผู้ป่วย คือ สิทธิ์การรักษาบัตรทอง สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เลย และได้ยืนยันว่ามาตรฐานการรักษาของโรงพยาบาลของรัฐนั้นก็มีมาตรฐานไม่แตกต่างกับโรงพยาบาลเอกชน แพทย์ที่ให้การปรึกษาดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลเอกชน ก็คือแพทย์ที่ให้การรักษาในโรงพยาบาลของรัฐเกือบทั้งหมด

ญาติผู้ป่วยได้ขอบคุณผมและได้พูดกับผมว่า “หมอครับผมรักแม่ผมมาก ตอนแรกที่แม่ผมไม่สบายก็รีบพาคุณแม่เข้าโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน หมอก็รีบให้การรักษาอย่างดี รวดเร็วและรีบส่งต่อมาที่โรงพยาบาลจังหวัด แต่พอผมพาคุณแม่ไปที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลจังหวัด เห็นคนไข้มีจำนวนมาก จึงกังวลใจว่าแม่จะได้รับการรักษาดีหรือไม่ แม่จะลำบาก จะเจ็บปวดหรือไม่ จะอันตรายหรือไม่ที่ต้องรอแพทย์ตรวจ จึงตัดสินใจให้รถพยาบาลรีบนำส่งที่โรงพยาบาลเอกชนทันที ซึ่งก็ได้รับการรักษาอย่างดี แต่ว่าผมไม่ใช่คนรวยครับ เพียงแค่นอนรักษาในโรงพยาบาลมา 4 วัน ค่าใช้จ่ายมีจำนวนมากเกินกว่าที่ผมและครอบครัวจะจ่ายได้ครับ คุณหมอช่วยผมด้วยนะครับผมหมดตัวแล้วครับ”

ผมฟังแล้วเข้าใจครับว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นธรรมดาของคนเราที่มีความรักคุณพ่อ คุณแม่ ลูกมากเพียงใด เมื่อคนที่เรารักเจ็บป่วยก็ต้องพยายามพาไปรักษาให้ดีที่สุด ยิ่งเป็นภาวะฉุกเฉินยิ่งไม่คิดถึงเรื่องค่าใช้จ่าย คิดเพียงว่าทำอย่างไรให้การรักษานั้นทำได้รวดเร็ว หายไวๆ พอเห็นค่าใช้จ่ายที่ทางโรงพยาบาลเรียกเก็บ ก็ถึงกับเข่าทรุดได้ เพราะค่ารักษาพยาบาลนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงครับ ไม่ว่าจะเป็นค่านอนรักษาในโรงพยาบาล ค่ายา ค่าตรวจเพิ่มเติม ค่ารักษาพยาบาล ค่าแพทย์ ค่าอาหารและค่าอื่นๆ อีกหลายรายการ ซึ่งเมื่อรวม ๆ กันแล้วก็เป็นวงเงินที่สูงมาก ต้องเกิดการกู้หนี้ยืมสินกันมาใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ส่งผลให้เกิดการล่มสลายทางครอบครัวหลายต่อหลายครอบครัว ซึ่งเป็นภาพที่ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย

แต่ว่าคนส่วนหนึ่งในสังคมก็ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก ความเชื่อที่ว่าการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐมีมาตรฐานไม่ดี ล่าช้า ซึ่งจริงแล้วการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐในปัจจุบันนั้นได้มาตรฐานครับ และถ้าเป็นกรณีฉุกเฉินก็ให้การรักษาที่รวดเร็วไม่ต่างกับภาคเอกชนครับ เพียงแต่คงไม่สะดวกเท่าโรงพยาบาลเอกชน และกรณีที่ผู้ป่วยมีเป็นจำนวนมาก การรักษาผู้ป่วยที่ไม่รีบ ก็คงล่าช้าไปบ้าง

ผมไม่อยากให้ครอบครัวเกิดการล่มสลายครับ โปรดไว้ใจในมาตรฐานการรักษาของโรงพยาบาลรัฐ และเจ้าหน้าที่ทุกคนมีความยินดีในการให้บริการครับ