หมอ(รักษา)โรคประสาท ตอนที่ 15 เอมอาร์ไอทั้งตัว

หมอรักษาโรคประสาท

การตรวจเอมอาร์ไอสมองหรือไขสันหลังนั้นเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นเครื่องมือวิเศษที่จะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ทุกโรค ทั้งที่จริงแล้วการตรวจเอมอาร์ไอนั้น ถ้าใช้ไม่ถูกกรณี ไม่ถูกโรคที่สงสัยก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร และอาจทำให้หลงทางได้อีกด้วย เสียเวลาในการรักษา

“หมอครับ ช่วยผมด้วย ผมมีอาการปวดศีรษะมานานมาก ปวดมาหลายสัปดาห์แล้ว อาการปวดศีรษะนั้นพอถึงเวลาประมาณบ่ายสองกับสี่ทุ่มของทุกวัน ผมก็ปวดศีรษะ ปวดอย่างแรงมาก ปวดจนไม่อยากมีศีรษะอยู่เลย ปวดทุรนทุรายมาก แต่พอเป็นนานประมาณชั่วโมงอาการก็ค่อยๆ หายไปเอง เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยครับ ผมไปตรวจกับหมอมาตั้งหลายคน ตรวจเอมอาร์ไอไป 3 ครั้ง ตรวจทั้งหัว กระดูกสันหลัง และโพรงจมูกก็ไม่พบอะไรผิดปกติเลย ช่วยผมด้วยครับ”

เมื่อผมฟังข้อมูลที่คุณลุงได้เล่าให้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ ก็สามารถให้การวินิจฉัยได้เลยว่าอาการปวดศีรษะดังกล่าวน่าจะเป็นปวดศีรษะคลัสเตอร์ (cluster headache) ยิ่งได้ตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติใดๆ อาการเป็นรุนแรงมาก และหายได้เอง เป็นตรงเวลา การได้ข้อมูลที่ดีครบถ้วนก็สามารถให้การวินิจฉัยโรคที่เป็นได้เลย โดยไม่ต้องตรวจเพิ่มเติมอะไรเลย (เพราะตรวจมามากเกินแล้ว)

การตรวจเพิ่มเติมไม่ว่าจะตรวจเลือด เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เอมอาร์ไอ และอื่นๆ นั้น แพทย์จะส่งตรวจก็ต่อเมื่อมีการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นแล้ว และต้องการการยืนยันว่าจะมีความผิดปกติหรือตรวจเพื่อยืนยันว่าไม่มีความผิดปกติใดๆ จึงจะส่งตรวจ การที่แพทย์ยังไม่ทราบเลยว่าอาการผิดปกตินั้นเกิดจากอะไร มีความผิดปกติตรงส่วนไหนของระบบประสาท การส่งตรวจเอมอาร์ไอหรือการตรวจอะไรก็ตาม ก็จะไม่ช่วยในการวินิจฉัยโรคได้เลย

การวินิจฉัยโรคที่ดีนั้นต้องเริ่มจากการสอบถามข้อมูลการเจ็บป่วยอย่างละเอียด แล้วจึงตรวจร่างกายเพื่อให้การวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ ถ้าจำเป็นจึงส่งตรวจเพิ่มเติม ดังนั้นการตรวจเอมอาร์ไอ จึงไม่ใช่คำตอบของทุกอย่างนะครับ และอยากบอกต่อว่าที่หมอไม่ยอมส่งตรวจเอมอาร์ไอหรือการตรวจอื่นๆ ตามที่ผู้ป่วยต้องการ ก็เพราะว่าแพทย์ได้พิจารณาแล้วว่ายังไม่มีความจำเป็นในการส่งตรวจดังกล่าว ไม่ใช่เพราะท่านใช้สิทธิ์บัตรทองหรือประกันสังคมครับ เพียงเพราะมันยังไม่ความจำเป็นต้องส่งตรวจ ก็เท่านั้น