หมอ (รักษา) โรคประสาท ตอนที่ 1 หมอรักษาโรคประสาท

หมอรักษาโรคประสาท

สวัสดีครับผู้อ่านและผู้สนใจทุกท่าน ผมกลับมาพบท่านผู้อ่านอีกครั้งด้วยเรื่อง “หมอ(รักษา)โรคประสาท เพื่อที่จะได้เล่าเรื่องราวต่างๆ ที่หมอระบบประสาทอย่างผมได้พบมาตลอดระยะเวลาที่เป็นหมอมา 25 ปี มีเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริง ที่ผมได้สัมผัสมา และบางส่วนเป็นสิ่งที่ผมอยากพูดคุยกับท่านผู้อ่าน เพื่อทำความเข้าใจว่า หมออย่างพวกผมนั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร เรียนอย่างไรกว่าจะเป็นหมอระบบประสาทได้ แล้วพวกผมจะเป็นหมอประสาทไปด้วยหรือเปล่า เพราะวันๆ ไม่ได้พักผ่อน ทำงานกันอย่างไรบ้าง แตกต่างจากหมอรักษาโรคจิตอย่างไร แล้วหมอระบบประสาทอย่างผมผ่าตัดได้หรือไม่ ถ้าจะผ่าสมองพวกผมจะทำอย่างไร

ก่อนอื่นต้องแนะนำตัวก่อนว่า หมอระบบประสาทอย่างพวกผมนั้น ชื่ออย่างเป็นทางการเรียกว่า อายุรแพทย์ระบบประสาท หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า neurologist หรือ neuro-medicineดังนั้น กว่าที่พวกเราจะเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ได้นั้น ต้องเริ่มจาก การศึกษาแพทยศาสตร์ 6 ปี (ถ้าไม่มีสอบตกเลย 555) หลังจากนั้นก็ต้องออกไปทำงานใช้ทุนตามโรงพยาบาลต่างๆ อย่างน้อย 3 ปี หลังจากหมดทุนแล้ว พวกเราก็ยังมีความขยันอย่างมาก (คุณสมบัติหนึ่งของแพทย์ คือ การศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิต) โดยมาสมัครเรียนต่อเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งตรงนี้จะมีระบบการฝึกอบรมเป็น 2 แบบ

แบบที่ 1 คือ การศึกษาเป็นอายุรแพทย์ก่อน 3 ปี แล้วต่อด้วยแพทย์ต่อยอด (ผมชอบชื่อนี้มาก คือ ต่อยอดจากที่จบเป็นอายุรแพทย์) เพื่อเป็นแพทย์ต่อยอดด้านประสาทวิทยาอีก 2 ปี รวมทั้งหมด 5 ปีครับ จึงจะเป็นแพทย์รักษาโรคประสาท

แบบที่ 2 คือ หลังจากใช้ทุนหมด 3 ปี ก็มาศึกษาหลักสูตรที่สั้นกว่าแบบที่ 1 คือเป็นแพทย์ด้านระบบประสาทเลย โดยใช้เวลา 3 ปี ประกอบด้วยเป็นอายุรแพทย์ 1 ปี และด้านระบบประสาทอีก 2 ปี รวม 3 ปี ก็สามารถรักษาโรคระบบประสาทได้เช่นเดียวกัน

แบบที่ 1 และ 2 ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไรบ้าง แล้วถ้าเราไม่สบายจะไปพบแพทย์แบบที่ 1 หรือแบบที่ 2 ดีกว่ากัน ต้องบอกว่าแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมทั้ง 2 แบบนั้นมีความสามารถไม่แตกต่างกันครับ แต่มีการทำงานที่แตกต่างกันบ้าง แพทย์ที่จบการฝึกอบรมแบบที่ 1 นั้นก็จะทำหน้าที่ได้มากกว่า คือ มีความรู้และประสบการณ์รักษาโรค ด้านอายุรกรรม คือ โรคในผู้ป่วยผู้ใหญ่ได้มากกว่า สำหรับโรคทางระบบประสาท ก็จะมีความรู้ความสามารถเหมือนกัน ดังนั้นถ้าท่านไม่สบายท่านจะพบแพทย์ท่านไหนก็ได้ครับ

ดังนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทในประเทศไทยถึงมีไม่มากนัก เพราะระยะเวลาการฝึกอบรมใช้เวลานานดังที่ผมได้เล่าให้ฟังแล้ว อีกส่วนหนึ่งคือในแต่ละโรงพยาบาลของรัฐไม่มีทุนส่งแพทย์มาศึกษาต่อด้านนี้มากนัก ทำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทนั้นมีไม่ครบในทุกโรงพยาบาลจังหวัด อย่างไรก็ดีในช่วง 5 ต่อจากนี้ไป คือในปี 2558-2562 ทางรัฐบาลได้ตะหนักเห็นถึงความสำคัญของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทจึงได้เพิ่มทุนในการฝึกอบรมแพทย์ระบบประสาท เพื่อให้มีครบในทุกจังหวัด

กรณีที่ท่านผู้อ่านมีอาการเจ็บป่วยที่สงสัยว่าจะเป็นอาการทางระบบประสาท ผมแนะนำว่าก็ให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านของท่าน ซึ่งจะมีแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปหรืออายุรแพทย์เป็นผู้ดูปัญหาสุขภาพของท่าน และถ้าแพทย์ได้พิจารณาแล้วว่าท่านต้องได้รับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบประสาท ก็จะให้การปรึกษาและส่งต่อไปตามระบบการรักษา ซึ่งทุกโรงพยาบาลจะมีแนวทางการส่งต่อที่เป็นระบบมาตรฐานเหมือนกันครับ ไม่ต้องกังวล

ผมหวังว่าเมื่อท่านทราบแล้วว่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทมีที่มาที่ไปอย่างไรแล้ว คงจะสบายใจและเข้าใจในระบบสุขภาพมากขึ้นนะครับ พบกันต่อในเรื่องเล่าถัดไป ว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทนั้นทำงานแตกต่างกับแพทย์สาขาอื่นๆ อย่างไร