หมอนรองกระดูกเคลื่อน มาเยือนคุณหรือยัง? (ตอนที่ 5)

การรักษาในเบื้องต้นมักจะให้ ยาแก้ปวดชนิดต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs = Non-steroidal anti-inflammatory drugs) แต่ในระยะยาวการให้ยา NSAIDs ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง อาจทำให้เกิดผลเสียต่อหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ (Cardiovascular) และเกิดแผลต่อกระเพาะอาหารและลำไส้ (Gastrointestinal)

การรักษาหมอนรองกระดูกทางอื่นที่มักใช้กันก็คือ การฉีดคอร์ติโซน (Cortisone) เข้าที่กระดูกสันหลังในบริเวณที่ปวด วิธีนี้เรียกว่า “Epidural steroid injection” ซึ่งอาจช่วยลดความเจ็บปวดที่รากประสาทตรงกระดูกใต้กระเบนเหน็บร่วมเอว (Radicular lumbosacral) ได้ประมาณ 2 – 6 สัปดาห์ อย่างไรก็ดีวิธีฉีดนี้อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

นอกจากนี้ วิธีอื่นๆ เช่น การฟื้นฟูสภาพ (Rehabilitation) การทำกายภาพบำบัด (Physical therapy) การจัดกระดูกแบบไคโรแพรคติก (Chiropractic) การใช้ยาต้านอาการเศร้าซึมชนิดมีฤทธิ์ช่วยลดอาการปวด (Anti-depressants) และโปรแกรมการออกกำลังกายพิเศษ ก็เป็นวิธีเสริมในการรักษาอาการอักเสบได้

การผ่าตัดจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่ใช้ในการรักษา ประมาณร้อยละ 50 ของคนที่มีอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อนในส่วนหลังจะหายภายใน 1 เดือน ประมาณร้อยละ 96 จะหายภายใน 6 เดือน มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่มีปัญหาจนต้องทำการผ่าตัด

การผ่าตัดหมอนรองกระดูกจะใช้สำหรับคนที่มีอาการเฉพาะเท่านั้น การตัดสินใจผ่าหรือไม่ ควรทำภายหลังจากที่ได้มีการวินิจฉัยโรคและทำการทดสอบทางกายภาพว่า อาการนั้นไม่มีผลสนองตอบต่อการรักษาด้วยวิธีที่อื่นแล้ว การผ่าตัดหมอนรองกระดูกจะไม่ได้ผลในกรณีที่การปวดหลังไม่ได้มีสาเหตุมาจากการที่หมอนรองกระดูกเคลื่อน

ตามปกติแพทย์จะไม่ทำการผ่าตัดหมอนรองกระดูกหากพบว่าสาเหตุของหมอนรองกระดูกเคลื่อนมาจากอาการปวดหลังเพียงอย่างเดียว ในการรักษาอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อนด้วยการผ่าตัดกระดูกสันหลังมีหลายวิธี เช่น

Discectomy (หรือที่เรียกว่า Open discectomy) เป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิมคือการเอาหมอนรองกระดูกที่กดทับเส้นประสาทออกเฉยๆ ใช้สำหรับกรณีหมอนรองกระดูกนูนหรือหมอนรองกระดูกแตก วิธีนี้เหมาะกับผู้รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผลและผู้ที่มีอาการปวดจนไม่สามารถทำอะไรได้

Percutaneous discectomy ใช้สำหรับกรณีหมอนรองกระดูกนูนและหมอนรองกระดูกที่ไม่ได้แตกเข้าไปในช่องไขสันหลัง วิธีนี้ใช้เครื่องมือพิเศษโดยการผ่าหลังเล็กน้อย (ผ่าตัดส่องกล้อง) แล้วนำเนื้อเยื่อที่แตกออกมา ทำให้ขนาดหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนเล็กลง วิธีนี้ถือว่าได้รับผลน้อยกว่าวิธีแรกและปัจจุบันมีการใช้วิธีนี้น้อยลง

Laminotomy และ Laminectomy เป็นการผ่าตัดรักษาโดยการคลายการกดทับกระดูกสันหลังหรือกดทับรากประสาท ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกระดูกสันหลังตามอายุ การผ่าตัดทั้งสองแบบจะเป็นการผ่าตัดยกกระดูกลามินา (Lamina) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระดูกสันหลังที่กดทับออก การผ่าตัดจะช่วยคลายการกดทับรากประสาทซึ่งทำให้อาการปวดหลังและขาลดลง โดยการผ่าแบบลามิโนโตมีจะเอากระดูกบางส่วนออก ในขณะที่การผ่าแบบลามิเน็กโตมีจะเอากระดูกออกหมดและอาจเลาะเอาเนื้อเยื่อหนาที่ทำให้ไขสันหลังตีบออกไปด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. Spinal disc herniation. http://en.wikipedia.org/wiki/Herniated_nucleus_pulposus [2012, July 31].
  2. Herniated Disc – Surgery. http://www.webmd.com/back-pain/tc/herniated-disc-surgery [2012, July 31].