หมอนรองกระดูกเคลื่อน มาเยือนคุณหรือยัง? (ตอนที่ 3)

หมอนรองกระดูกเคลื่อนอาจเกิดขึ้นในส่วนไหนของกระดูกสันหลังก็ได้ แต่ที่เป็นมากที่สุดคือที่หมอนรองกระดูกส่วนเอว (Lumbar region) โดยร้อยละ 95 เกิดที่ตำแหน่ง L4-L5 หรือ L5-S1 ซึ่งทำให้ปวดหลังส่วนล่าง (Lumbago) และปวดขา (Sciatica)

รองลงมาคือหมอนรองกระดูกส่วนคอ (Cervical region) ที่ตำแหน่ง C5-C6 หรือ C6-C7 ส่วนกระดูกสันหลังส่วนอก (Thoracic region) นั้นมีโอกาสเกิดได้น้อย หมอนรองกระดูกส่วนเอวมีโอกาสเคลื่อนมากกว่าหมอนรองกระดูกส่วนคอถึง 15 เท่า หมอนรองกระดูกส่วนคอมีโอกาสเกิดร้อยละ 8 และหมอนรองกระดูกหลังส่วนบนถึงส่วนกลางหลังมีโอกาสเกิดเพียงร้อยละ 1-2 เท่านั้น

การเคลื่อนของหมอนรองกระดูกมักเกิดในส่วนข้างด้านหลัง ซึ่งเนื้อเยื่อเส้นใยชั้นเปลือกนอกค่อนข้างบางและไม่ได้ถูกยึดด้วยเส้นเอ็นแนวยาว ในกระดูกสันหลังส่วนคออาการเคลื่อนของส่วนข้างด้านหลังระหว่างกระดูกสันหลังจะกระทบเส้นประสาทซึ่งอยู่นอกช่องไขสันหลังระหว่างกระดูกสันหลังด้านนั้น เช่น การเคลื่อนของหมอนรองกระดูกส่วนข้างด้านหลังขวาระหว่างกระดูกสันหลังตำแหน่งที่ C5 และ C6 จะกระทบต่อเส้นประสาทไขสันหลังด้านขวาของ C6

อย่างไรก็ดี กระดูกสันหลังที่เหลือจะมีทิศทางที่แตกต่างกันไป ดังนั้นการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกจะกระทบเส้นประสาทที่อยู่ระหว่างช่อง (กลาง) กระดูกสันหลังถัดไป ตัวอย่างเช่น การเคลื่อนที่ของหมอนรองกระดูกที่ตำแหน่ง L5 และ S1 จะกระทบต่อเส้นประสาทที่ S1 ซึ่งอยู่ระหว่างกระดูกสันหลังที่ตำแหน่ง S1 และ S2

การเคลื่อนของหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอ มักเกิดระหว่างกระดูกสันหลังตำแหน่ง C5-C6 และ C6-C7 อาการที่เกิดจะกระทบส่วนหลังของกระโหลกศีรษะ คอ กระดูกข้อไหล่ (Shoulder girdle) กระดูกสะบัก ไหล่ แขน และ มือ รวมถึงร่างแหเส้นประสาทส่วนคอ (Cervical plexus) และ ร่างแหเส้นประสาทส่วนแขน (Brachial plexus)

กระดูกสันหลังส่วนอกมักอยู่คงที่ และพบว่ามีการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกส่วนนี้น้อยมาก การเคลื่อนของหมอนรองกระดูกส่วนอกด้านบนสุดอาจมีอาการเหมือนการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอ ในขณะที่การเคลื่อนของส่วนอื่นอาจมีอาการเหมือนการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกส่วนเอว

การเคลื่อนของหมอนรองกระดูกส่วนเอวเกิดในหลังส่วนล่าง ที่พบประจำคือ ระหว่างตำแหน่ง L4-L5 หรือระหว่าง L5 กับ กระดูกใต้กระเบนเหน็บ (Sacrum) อาการที่เกิดจะกระทบต่อหลังส่วนล่าง สะโพก ต้นขา อวัยวะสืบพันธุ์ และอาจลามไปถึงเท้า

อาการปวดตามส่วนหลัง สะโพกและขาเพราะกดทับเส้นประสาทไซแอติก (Sciatic) หรือที่เรียกว่าอาการปวดตามประสาทไซแอติก (Sciatica) เป็นอาการที่พบมากที่สุด เส้นประสาทต้นขาก็อาจถูกกระทบได้และทำให้เกิดอาการชา เป็นเหน็บ ในขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองขา หรือแม้แต่ปลายเท้า และการรู้สึกร้อนในส่วนของสะโพกและขา

การผ่าตัดกระดูกสันหลังเป็นการลดความกดดันในบริเวณเส้นประสาทหรือระบบประสาท แต่ในปัจจุบันมีการยอมรับกันมากขึ้นว่า นอกจากเรื่องความกดดันแล้ว อาการ ปวดหลังอาจเกิดจากการที่รากประสาทอักเสบจากสารเคมี (Chemical radiculitis) ที่เกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อ เรียกว่าสาร ทีเอ็นเอฟ (TNF = Tumor necrosis factor-alpha) ซึ่งไม่ได้ไหลออกมาเพราะการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกเท่านั้น แต่ยังเกิดในกรณีที่หมอนรองกระดูกแตก (Annular tear) และกรณีที่มีการตีบของไขสันหลัง นอกจาก TNF จะเป็นสาเหตุของการปวดและอักเสบแล้ว ยังทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมอีกด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. Spinal disc herniation http://en.wikipedia.org/wiki/Herniated_nucleus_pulposus [2012, July 29].