หน่วยดูแลผู้ป่วยหนัก ICU คืออะไร

นพ. ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขแถลงว่า ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 26 ตุลาคม เป็นต้นไป โรงพยาบาลในพื้นที่ กทม.ที่มีผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา จะเริ่มทำการทยอยย้ายผู้ป่วยออกด้วยรถแพทย์เคลื่อนที่ไปยังจังหวัดชลบุรี ระยอง และจันทบุรี ประมาณ 50-100 คน ภายในวันแรก

ส่วนผู้ป่วยหนักที่ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและพอจะเดินทางไกลได้ จะเคลื่อนย้ายทางอากาศไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดที่ปลอดภัยจากน้ำท่วม ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในวันรุ่งขึ้น โดยได้เตรียมโรงพยาบาลไว้หลายแห่ง อาทิ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งมีอาคารผู้ป่วย 60 เตียงเพิ่งก่อสร้างและเสร็จพอดี

หน่วยดูแลผู้ป่วยหนัก มีชื่อเรียกต่างๆ กัน อาทิ ICU (Intensive Care Unit) และ CCU (Critical Care Unit) เป็นหน่วยงานหนึ่งในโรงพยาบาลที่ให้การดูแลรักษาเฉพาะทาง ขึ้นอยู่กับความจำเป็น [ของผู้ป่วย] และทรัพยากรของโรงพยาบาล อาจเป็นหน่วยดูแลผู้ป่วยหนักเคลื่อนที่ (Mobile ICU) อยู่กลางอากาศ บนพื้นดิน หรือใต้น้ำ

แนวความคิดในการดูแลผู้ป่วยหนัก เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2397 ในขณะที่ Florence Nightingale ปฏิบัติหน้าที่ในสงคราม Crimean เธอได้แยกทหารที่บาดเจ็บหนัก ออกจากทหารที่บาดเจ็บไม่มากนัก ทำให้อัตราผู้ตายในสนามรบลดลงจาก 40% เหลือเพียง 2%

ในปี พ.ศ 2493 วิสัญญีแพทย์ Peter Safer ได้พัฒนาแนวความคิดของ "Advanced Support of Life" ที่ระงับประสาทผู้ป่วยหนัก แต่ยังเครื่องช่วยหายใจโดยมีการดูแลผู้ป่วยหนักอย่างใกล้ชิด Safar ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกที่ลงมือปฏิบัติเป็นคนแรก สำหรับการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยหนัก (Intensive-care medicine)

Bjørn Aage Ibsen เป็นผู้จัดตั้งหน่วยงาน ICU แห่งแรกของโลกที่ Copenhagen ในปี พ.ศ. 2496 และอีก 2 ปีต่อมา ICU แห่งแรกในสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นโดยศัลยแพทย์ William Mosenthal ในช่วงทศวรรษ 1960 (พ.ศ. 2503) ความสำคัญของภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อาทิ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ได้นำไปสู่การเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดจนเป็นกิจวัตร โดยเฉพาะหลังเกิดหัวใจวาย

อุปกรณ์ที่ใช้ใน ICU ได้แก่ เครื่องช่วยหายใจ (Mechanical ventilator); เครื่องเฝ้าระวังการทำงานของหัวใจ อาทิ ควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ; อุปกรณ์ฟอกไตกรณีไตมีปัญหา; อุปกรณ์เฝ้าระวังการทำงานของอวัยวะร่างกาย; การเชื่อมโยงของสายหลอดเลือดดำ, ท่อป้อนอาหารและยา, ท่อให้อาหารผ่านทางจมูกถึงกระเพาะอาหาร, ปั๊มดูดเสมหะ (Suction), ท่อทดของเหลวให้แห้ง (Drain) และท่อสวน (Catheter); ยาและเครื่องมือต่างๆ เพื่อระงับประสาท ลดความปวด และป้องกันการติดเชื้อ

ทั้งนี้ เมื่อจำนวนผู้ดูแลผู้ป่วยหนักมีมากขึ้น จะมีความสัมพันธ์กับการลดลงของอัตราการตายในโรงพยาบาล ดังนั้นอัตราส่วนที่เหมาะสมของ ICU ก็คือผู้ป่วย 2 คนต่อพยาบาล 1 คน เปรียบเทียบกับ 4 : 1 หรือ 5 : 1 ในกรณีผู้ป่วยทั่วไป อัตราส่วนนี้เปลี่ยนแปลงได้ (อาจเป็น 1 : 1 ในบางกรณี) ขึ้นอยู่กับ แต่ละประเทศ อาการผู้ป่วย การใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมกับการใช้ยาระงับประสาท หรือยาแก้ปวดชนิดออกฤทธิ์รุนแรงที่ต้องใช้การดูแลใกล้ชิด อาทิ Morphine หรือ Propofol

ผู้ดูแลผู้ป่วยหนัก ได้แก่ แพทย์เฉพาะทาง (Intensivist) แพทย์อายุรกรรม ศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ หรือแพทย์ฉุกเฉิน (Emergency medicine) ทีมงานอาจประกอบด้วย นักวิชาชีพที่ได้รับการฝึกอบรมการดูแลผู้ป่วยหนักโดยเฉพาะ อาทิ พยาบาล นักบำบัดการหายใจ เภสัชกรคลินิก นักโภชนาการ นักกายภาพบำบัด นักบำบัดอาชีวอนามัย ฯลฯ

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.สั่งย้ายผู้ป่วยหนักออกจากโรงพยาบาลในกทม. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1319613135&grpid=03&catid=19 [2011, October 27].
  2. Intensive Care Unit. http://en.wikipedia.org/wiki/Intensive_care_unit [2011, October 27].