หนูไม่อยากไปโรงเรียน (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

หนูไม่อยากไปโรงเรียน-3

      

      

      การที่เด็กไม่ยอมไปโรงเรียนอาจเกิดได้ในทุกวัย แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดตอนที่มีการเปลี่ยนโรงเรียน หรือเริ่มขึ้นชั้นมัธยม หรือมีการเปลี่ยนแปลงในครอบครัว เช่น ครอบครัวแตกแยก หรือพ่อแม่ไม่สบาย

      ปัญหาระยะสั้นของการที่เด็กไม่ยอมไปโรงเรียน ก็คือ การที่เด็กอาจเรียนไม่ทันเพื่อนและไม่มีโอกาสเล่นกับเพื่อน ส่วน่ในระยะยาวเมื่อเด็กปรับตัวได้แล้วยอมไปโรงเรียนก็จะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

      ทั้งนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่จะต้องพยายามทำให้เด็กไปโรงเรียนให้ได้ เพราะถ้าปล่อยไว้นานจะยิ่งแก้ยาก โดยพ่อแม่ต้องพยายามแก้ที่สาเหตุโดย

  • ต้องมั่นใจว่าเด็กจะสามารถผ่านปัญหาไปได้และต้องให้เด็กรู้ว่าพ่อแม่เชื่อว่าเขาทำได้
  • อย่าให้เด็กเห็นความวิตกกังวลของคุณ
  • ฟังเด็กพูดและคอยสนับสนุนให้เด็กเล่าถึงความรู้สึกและความกลัวของเด็ก
  • ให้เด็กรู้ว่าคุณเข้าใจความรู้สึกของเขาอย่างไร
  • ทำความรู้จักกับครูที่โรงเรียนเพื่อช่วยกันดูแลและสอบถามว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเด็กที่โรงเรียนบ้าง
  • สร้างความมั่นใจกับเด็กว่า จะกลับมารับตอนเลิกเรียน และต้องไปรับให้ตรงเวลา

      ส่วนทางโรงเรียนอาจต้องหากลยุทธ์และทำเป็นนโยบายในการจัดการกับปัญหาเด็กไม่ยอมไปโรงเรียน เช่น

  • สร้างบรรยากาศที่ดีระหว่างเด็กและครูในโรงเรียน
  • สร้างโปรแกรมที่จะสนับสนุนให้มีสำนึกในการเป็นส่วนหนึ่ง (Sense of belonging) ของเด็กนักเรียน
  • มีโปรแกรมการตรวจเช็ครายชื่อนักเรียนที่มาโรงเรียน ขาดเรียน
  • ทำความรู้จักกับครอบครัวของเด็ก เพื่อพูดคุยเรื่องของเด็กและร่วมกันขจัดปัญหาที่ทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน

      สำหรับเด็กที่หนีเรียน (Truancy) จะแตกต่างกับเด็กที่ไม่ยอมไปโรงเรียน เพราะเป็นเด็กที่ทำทีจะไปโรงเรียนหรือไปโรงเรียนแล้วค่อยๆ หนีออกมาเพื่อไปพบเพื่อนหรือทำบางสิ่งบางอย่างที่อาจละเมิดกฏเกณฑ์ โดยเด็กที่หนีเรียนจะพยายามปกปิดไม่ให้พ่อแม่รู้

      ส่วนสาเหตุของเด็กที่หนีเรียนอาจเกิดจาก

      o ต้องการเรียกร้องความสนใจหรือทำให้เพื่อนประทับใจ

      o มีความบกพร่องในการเรียนรู้ที่ไม่ได้รับการรักษาหรือตรวจพบ

      o เป็นเหยื่อของการถูกรังแกที่โรงเรียน

      o มีปัญหาทางบ้าน เช่น ถูกทอดทิ้ง

      o มีปัญหาด้านจิตใจ เช่น มีอาการความเครียดหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-traumatic stress disorder = PTSD) เป็นโรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder = ADHD)

      และเนื่องจากการหนีเรียนในเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี จะเป็นตัวบ่งชี้ได้ถึงการกระทำความผิดที่อาจเกิดขึ้น เช่น การเสพสารเสพติด (Substance abuse) การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (Teen pregnancy) การโดดเดี่ยวทางสังคม (Social isolation) ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงควรร่วมกันหาทางหยุดพฤติกรรมการหนีเรียนในเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ให้ได้ทันที

แหล่งข้อมูล:

  1. How to… Understand Truancy. https://strategiesforyouth.org/for-police/how-to/how-to-truancy/ [2018, June 14].
  2. School refusal and truancy. http://www.cyh.com/HealthTopics/HealthTopicDetails.aspx?p=114&np=141&id=1698. [2018, June 14].
  3. School Refusal. https://adaa.org/living-with-anxiety/children/school-refusal [2018, June 14].