หนูไม่อยากเป็นเด็กแอลดี (ตอนที่ 4)

วัตถุประสงค์ของการประเมินก็เพื่อหาว่า สิ่งใดที่จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือแก่เด็ก หรือมีความผิดปกติอื่นที่เกิดขึ้นร่วมกันที่ต้องรักษาด้วย เช่น เรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรม (Behavioral issues) หรือการพูดช้า

จะมีการติดตามเด็กอย่างใกล้ชิดเพื่อดูว่ามีพัฒนาการพอไหม เด็กที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาก็อาจให้ความช่วยเหลือต่อไปด้วยการศึกษาเฉพาะ

ประโยชน์ของการรักษาแบบนี้ก็คือ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรอให้เด็กบกพร่องมากเกินกว่าที่จะให้ความช่วยเหลือได้ ทำให้เด็กได้รับการช่วยเหลือก่อนที่อาการจะมากขึ้น นั่นก็คือ ทำให้มีเด็กจำนวนน้อยลงที่ต้องรับการศึกษาและดูแลแบบพิเศษ

มีบทวิจัยหลายฉบับที่เน้นการใช้วิธีการตอบสนองต่อการให้ความช่วยเหลือ (Response to intervention = RTI) ซึ่งเป็นกระบวนการให้การช่วยเหลือเด็กที่มีความยุ่งยากทางการศึกษา มีผลการเรียนต่ำกว่าเป้าหมาย ให้สามารถพัฒนาตนเองได้สูงขึ้น โดยเริ่มจากการประเมิน คัดกรองความสามารถและให้ความช่วยเหลือซึ่งสามารถช่วยให้เด็กได้รับประสบการณ์สำคัญมากหรือพัฒนาตนเองก่อนที่จะล้มเหลวทางการเรียน

RTI จะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ

ระดับที่ 1 - เป็นการสอนในชั้นเรียนทั่วไป โดยเด็กทุกคนจะได้รับการสอนที่มีคุณภาพเพื่อให้แน่ใจว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากการสอนที่ไม่พอเพียง จะมีการทดสอบคัดกรองอยู่เป็นประจำเพื่อดูว่านักเรียนคนไหนอยู่ในภาวะเสี่ยงหรือต้องการการสอนเพิ่มเติม เด็กที่อยู่ในภาวะเสี่ยงจะได้รับการสอนเพิ่มเติมที่โรงเรียนในเวลาเรียนปกติ

ระยะเวลาที่ใช้ในขั้นตอนนี้แตกต่างกันไป แต่ไม่ควรเกิน 8 สัปดาห์ ตลอดระยะเวลานี้จะมีการวัดพัฒนาการของเด็กอย่างใกล้ชิด เมื่อถึงกำหนดเวลาแล้วเด็กสามารถแสดงได้ว่ามีพัฒนาการ เด็กก็จะกลับไปเรียนในห้องเรียนตามปกติ แต่ถ้าเด็กไม่มีพัฒนาการ ก็จะย้ายเด็กไปอยู่ระดับ 2

ระดับที่ 2 - เด็กในระดับนี้จะได้รับการสอนเพิ่มเติมตามความจำเป็นของผลการเรียนและอัตราของความก้าวหน้า ความเข้มข้นของการสอนจะแตกต่างกันไปตั้งแต่ขนาดของกลุ่มย่อย ความถี่ ระยะเวลาในการให้ความช่วยเหลือ และระดับของครูหรือผู้เชี่ยวชาญในการสอน เป็นการสอนนักเรียนเป็นกลุ่มย่อย

การเรียนการสอนหลักยังคงทำในห้องเรียนปกติ แต่จะมีการจัดกลุ่มย่อยเพื่อเรียนเพิ่ม ซึ่งมักจะใช้เวลาครั้งละ 30 นาที เป็นเวลา 2 - 4 ครั้งต่อสัปดาห์ อย่างน้อย 9 สัปดาห์ โดยครูผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ในระดับเด็กเล็ก การให้ความช่วยเหลือจะเน้นไปที่การอ่านและการคำนวณ ซึ่งอาจต้องใช้เวลามากในช่วงระดับนี้ นักเรียนที่ยังคงมีพัฒนาการน้อยจะถูกพิจารณาให้ไปรับการช่วยเหลือที่เข้มข้นขึ้นในระดับ 3

ระดับที่ 3 - เด็กจะได้รับการสอนแบบตัวต่อตัว เป็นการสอนที่เข้มข้นเพื่อเติมทักษะที่ยังขาดอยู่ การสอนในระดับนี้ต้องใช้เวลาครั้งละ 30 นาที อย่างต่ำ 2 ครั้งทุกสัปดาห์ ตลอด 9 - 12 สัปดาห์ การให้ความช่วยเหลือในระดับนี้คล้ายกับระดับ 2 ยกเว้นเรื่องความเข้มข้น ความถี่ และระยะเวลา มักจะจัดการเรียนการสอนนอกเวลาเรียนปกติ หากยังไม่มีผลการพัฒนาการที่น่าพอใจก็จะถือว่าเป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้หรือเป็นเด็ก LD

แหล่งข้อมูล:

  1. Learning disability. http://en.wikipedia.org/wiki/Learning_disability [2013, September 7].
  2. What is RTI? http://www.rtinetwork.org/learn/what/whatisrti [2013, September 7].
  3. Response to intervention. http://en.wikipedia.org/wiki/Response_to_intervention [2013, September 7].