หนูขาดเค แม่ขาดใจ (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

หนูขาดเคแม่ขาดใจ-4

      

      การวินิจฉัยว่ามีภาวะการขาดวิตามินเค แพทย์จำเป็นต้องซักประวัติเพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงในการเกิดภาวะการขาดวิตามินเค เช่น มีการใช้สารกันเลือดเป็นลิ่ม การใช้ยาปฏิชีวนะ หรือมีปัญหาเรื่องการดูดซึมไขมันหรือไม่

      และส่วนใหญ่แพทย์จะให้ทำการตรวจเลือดเพื่อจะวินิจฉัยสาเหตุของเลือดออกง่าย หรือไม่หยุด หรือมีจ้ำเลือด ที่เรียกว่า Prothrombin time (PT) test ซึ่งเป็นการตรวจกลไกของการห้ามเลือดว่าใช้เวลานานเท่าไร ซึ่งปกติจะใช้เวลา 11-13.5 วินาทีให้เลือดหยุด ซึ่งถ้าใช้เวลานานกว่าแพทย์อาจวินิจฉัยว่า มีภาวะการขาดวิตามินเค

      นอกจากนี้ อาจมีการตรวจ International normalized ratio (INR) เพื่อดูระยะเวลาในการแข็งตัวของเลือด หรือตรวจเพื่อดูว่าเลือดจะเกิดลิ่มเลือดได้เมื่อไร หรือเลือดหยุดไหลได้เมื่อไร ซึ่งค่าปกติจะอยู่ที่ 0.9-1.1 แต่สำหรับคนที่กินยาต้านการแข็งตัวของเลือดค่าอาจจะอยู่ที่ 2-3.5

      การรักษาภาวะการขาดวิตามินเค ก็คือ การกินยา Phytonadione ซึ่งเป็นวิตามินเค 1 หรือ ในผู้ใหญ่อาจใช้การฉีดในปริมาณ 1-25 มิลลิกรัม ส่วนในเด็ก The American Academy of Pediatrics จะแนะนำให้ฉีดในปริมาณ 0.5-1 มิลลิกรัม ครั้งเดียวตอนแรกเกิด สำหรับแม่ที่กินยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือยากันชัก ก็อาจให้วิตามินเคในปริมาณที่มากกว่าปกติ

      ทั้งนี้ อาจใช้เวลาในการให้ยานาน 2-5 วัน จึงค่อยเห็นผล

      อย่างไรก็ดี เป็นที่รู้กันว่า วิตามินเค 3 นั้นเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic anemia) ในเด็กทารก ดังนั้น จึงไม่นิยมใช้รักษาในเด็กเล็ก

      กรณีที่ไม่ทำการรักษา ในผู้ใหญ่จะทำให้มีเลือดออกมากและเกิดอันตราย ส่วนในเด็กทารก หากมีภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ (Intracranial hemorrhage) เป็นระยะเวลานานหรือไม่ได้รับการรักษา สมองอาจถูกทำลายหรือเสียชีวิตได้

      ทั้งนี้ ยังไม่มีการตั้งค่ามาตราฐานอย่างเป็นทางการในปริมาณการได้รับวิตามินเคในแต่ละวัน แต่นักโภชนาการมักแนะนำว่า ผู้ชายควรได้รับที่ 120 มิลลิกรัม ในขณะที่ผู้หญิงควรได้รับที่ 90 มิลลิกรัม ซึ่งเราสามารถหาวิตามินเคได้ง่ายจากผักใบเขียว ส่วนในเด็ก การฉีดวิตามินเคครั้งเดียวตอนแรกเกิดก็สามารถที่จะป้องกันภาวะการขาดวิตามินเคได้

      สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการย่อยและดูดซึมไขมัน รวมถึงผู้ที่กินยา Warfarin หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อกินอาหารเสริมวิตามินเคให้เหมาะกับร่างกาย

      อนึ่ง แหล่งอาหารธรรมชาติที่มีวิตามินเค ได้แก่

  • ผักใบเขียว เช่น ผักปวยเล้ง (Spinach) หน่อไม้ฝรั่ง (Asparagus) และบร็อคโคลี่ (Broccoli)
  • พืชตระกูลถั่ว (Legumes) เช่น ถั่วเขียว
  • ไข่
  • สตรอเบอรี่
  • เนื้อสัตว์ เช่น ตับ

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Understanding Vitamin K Deficiency. https://www.healthline.com/health/vitamin-k-deficiency [2018, October 22].
  2. Vitamin K Deficiency. https://labtestsonline.org/conditions/vitamin-k-deficiency [2018, October 22].
  3. Vitamin K. https://www.webmd.com/vitamins-and-supplements/supplement-guide-vitamin-k#1 [2018, October 22].