หนังแข็ง (ตอนที่ 3)

หนังแข็ง

โรคผิวหนังแข็งอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ตั้งแต่ระดับอ่อนจนถึงระดับรุนแรงโดยมีผลต่อ

  • ปลายนิ้ว (Fingertips) - ซีดเขียวง่ายเมื่อสัมผัสความเย็น (Raynaud's phenomenon) อาจรุนแรงถึงขั้นที่เลือดลมเดินไม่ได้เป็นการถาวร ทำลายเซลล์ที่ปลายนิ้ว ทำให้ปลายนิ้วเป็นหลุมหรือเป็นแผลปวด ในบางรายเนื้ออาจตาย (Gangrene) และต้องตัดออก (Amputation)
  • ปอด – ทำให้เป็นโรคปอดอักเสบเรื้อรังที่มีพังผืดเกิดขึ้นในปอด (Pulmonary fibrosis) ความสามารถในการหายใจลดลง และเหนื่อยง่าย นอกจากนี้อาจมีปัญหาเรื่องภาวะความดันหลอดเลือดแดงในปอดสูงที่สูงขึ้น(Pulmonary hypertension)
  • ไต – หากโรคผิวหนังแข็งเกิดที่บริเวณไต อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และเพิ่มระดับของโปรตีนในปัสสาวะ ในกรณีที่ร้ายแรงอาจมีทำให้เกิดอาการไตวายได้
  • หัวใจ - หากเนื้อเยื่อของหัวใจมีรอยแผลอาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmias) ทำให้หัวใจวาย เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) และสามารถเพิ่มแรงดันของหัวใจซีกขวาทำให้หัวใจหยุดทำงานได้
  • ฟัน - โรคผิวหนังแข็งทำให้ปากเล็กและแคบลง ทำให้ยากต่อการแปรงฟันและทำความสะอาด และเนื่องจากคนที่เป็นโรคผิวหนังแข็งจะไม่ค่อยมีน้ำลายเหมือนคนปกติ ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงในการที่ฟันจะผุ
  • ระบบย่อยอาหาร - ทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนและกลืนลำบาก บางรายอาจรู้สึกว่าอาหารที่กินเข้าไปจะติดอยู่ที่หลอดอาหาร หรือถ่ายบ่อยเหมือนคนท้องเสีย
  • ความรู้สึกทางเพศ - ผู้ชายที่เป็นโรคผิวหนังแข็งมักจะมีปัญหาเรื่องการไร้สมรรถภาพทางเพศ (Erectile dysfunction) ส่วนผู้หญิงจะมีน้ำหล่อลื่นน้อยลงและช่องคลอดหดตัวแคบลง

เนื่องจากโรคผิวหนังแข็งมีอาการหลายแบบและสามารถกระทบต่ออวัยวะของร่างกายได้หลายส่วน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะวิเคราะห์โรคได้ นอกจากการวินิจฉัยด้วยการดูทางกายภาพแล้ว แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเลือดเพื่อทำการเช็คระดับภูมิคุ้มกันของร่างกาย อาจมีการตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อไปตรวจ (Biopsy) เพื่อหาความผิดปกติ หรืออาจมีการทดสอบการหายใจ (Pulmonary function tests) ทำซีทีสแกนที่ปอด และตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง (Echocardiogram)

ปัจจุบันยังไม่มียาใดที่ใช้หยุดกระบวนการผลิตคอลลาเจนที่มากเกินไปซึ่งคาดว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคผิวหนังแข็งได้ มีเพียงยาที่ใช้ควบคุมอาการผิวหนังแข็งหรือเพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น

  • ยากดภูมิคุ้มกัน เช่นเดียวกับที่ใช้ในผู้ป่วยหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ
  • ยาลดกรดในท้อง เพื่อบรรเทาอาการกรดไหลย้อน
  • ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เช่น ขี้ผึ้ง (Antibiotic ointment) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแผลติดเชื้อที่ปลายนิ้ว วัคซีนป้องกันไข้หวัดและปอดอักเสบที่สามารถช่วยป้องกันปอดจากการถูกทำลายโดยโรคผิวหนังแข็ง
  • ยาลดปวด

แหล่งข้อมูล

  1. Scleroderma. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/scleroderma/basics/definition/con-20021378 [2015, April 9].