หกล้มตอนแก่ (ตอนที่ 1)

หกล้มตอนแก่

นายแพทย์อรรถพล ชีพสัตยากร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ช่วงที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่องและตกหนักในบางแห่ง ส่งผลมีน้ำขังตามบริเวณต่าง ๆ ทั้งพื้นดินและบริเวณรอบบ้าน ทำให้พื้นลื่นการเดินค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุอาจทำให้เกิดการพลัดตกหกล้มได้มากกว่าช่วงปกติ

ซึ่งการพลัดตกหกล้มนี้ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของผู้สูงอายุในกลุ่มการบาดเจ็บโดยไม่ได้ตั้งใจรองจากอุบัติเหตุทางถนน

ทั้งนี้ จากการสำรวจที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุพบว่าส่วนใหญ่ไม่มีห้องนอนอยู่ชั้นล่างของบ้าน ต้องขึ้นลงบันไดไปนอนชั้นบนของบ้าน ส่วนห้องน้ำยังใช้โถส้วมแบบนั่งยอง ไม่มีราวจับกันลื่นในห้องน้ำ และยังใช้ประตูห้องน้ำแบบเปิดเข้าหาตัว

ด้านนายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 14.9 หรือประมาณ 10 ล้านคน

โดยปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย คือ การบาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้ม ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสองในกลุ่มของการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจ รองจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2557)

และข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี 2557 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มสูงถึง 2,007 คน หรือเฉลี่ยวันละ 6 คน โดยเป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากถึง 909 คน หรือเฉลี่ยวันละ 3 คน

นอกจากนี้ ยังพบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2548-2557) เพศชายมีอัตราการเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มสูงกว่าเพศหญิง 3.4 เท่า

และจากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย พบว่า เพศชายร้อยละ 60 หกล้มบริเวณนอกบ้าน ขณะเดินทาง เช่น ถนนในซอย บนสะพาน บนรถเมล์ และในสถานที่ทำงาน ไร่ นา ส่วนเพศหญิงมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 55) หกล้มในตัวบ้านและบริเวณบ้าน เช่น ห้องนอน ห้องครัว และห้องน้ำ เป็นต้น

นายแพทย์อำนวยกล่าวต่อไปว่า สาเหตุของการพลัดตกหกล้มส่วนใหญ่เกิดจากตัวผู้สูงอายุ ได้แก่ ร่างกายและความสามารถที่ลดลง เช่น การมองเห็นไม่ชัด สายตาผิดปกติ เดินเซ มีการรับรู้ที่ช้า มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย สวมใส่รองเท้าและเสื้อผ้าที่ไม่พอดี

อีกสาเหตุคือเกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นและบันไดลื่นหรือเปียก พื้นต่างระดับไม่เรียบ แสงสว่างไม่เพียงพอ ไม่มีราวจับบริเวณบ้าน บันได และห้องน้ำ โดยการบาดเจ็บหลังการพลัดตกหกล้ม มีตั้งแต่อาการเล็กน้อย เช่น อาการฟกช้ำ แผลถลอก กระดูกหัก จนถึงขั้นรุนแรง และเสียชีวิตได้

บรรณานุกรม

1. แนะป้องกันผู้สูงอายุ พลัดหกล้ม. http://www.thaihealth.or.th/Content/33588-แนะป้องกันผู้สูงอายุ พลัดหกล้ม.html [2016, November 12].

2. รายงานพิเศษ : “คนแก่” หกล้ม ตายวันละ 3 คน แพทย์แนะ 7 มาตรการป้องกัน. http://manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9590000000724&Keyword=%e2%c3%a4 [2016, November 12].