“สเต็มเซลล์” ตัวช่วยหรือตัวเสี่ยง (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

ส่วนกระแสข่าวที่พบว่า มีผู้มีชื่อเสียงพากันไปฉีดสเต็มเซลล์เพื่อหวังผลด้านความสวยความงามนั้น รศ .ดร. คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และกรรมการห้องปฏิบัติการฮาร์ท จีเนติกส์ (Heart Genetics Laboratory) เผยถึงผลการตรวจที่พบความผิดปกติอย่างน่าสงสัยของผู้ที่มาใช้บริการตรวจดีเอ็นเอ (DNA) ว่า พบความผิดปกติในดีเอ็นเอของลูกค้ากลุ่มหนึ่งซึ่งมีการกลายพันธุ์

โดย รศ. ดร. คล้ายอัปสร ตั้งข้อสังเกตว่า การกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอนั้นเป็นการกลายเป็นพันธุ์จากคนไปเป็นของสัตว์ และพบว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะกลายเป็นมะเร็ง หลังจากที่ได้มีการสอบถามดูก็ได้รับคำตอบว่า ได้ไปใช้บริการฉีดสเต็มเซลล์มา

ทั้งนี้ กลุ่มคนที่ รศ. ดร. คล้ายอัปสร ตรวจพบอาการดังกล่าวนั้นเป็นนักธุรกิจ หรือนักการเมืองที่ใส่ใจในเรื่องของสุขภาพ การฉีดสเต็มเซลล์ที่ใช้ค่าใช้จ่ายสูงก็เพื่อให้ตัวเองหายจากโรคที่เป็นอยู่ แต่กลับทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคร้าย [กล่าวคือ มะเร็ง] มากขึ้น

ปัจจัยของการฉีดสเต็มเซลล์แล้วทำให้เกิดมะเร็งนั้นก็สอดคล้องกับคำกล่าวของ ผศ. ดร. นพ. นิพัญจน์ ที่ว่า การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ที่ผ่านการเพาะเลี้ยงจะยิ่งมีปัจจัยที่ทำให้มีผลข้างเคียงเป็นโรคมะเร็ง เพราะเซลล์ยิ่งผ่านการเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการนาน ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติในโครโมโซม (Chromosome) และการปนเปื้อน (Contamination) จำต้องมีการตรวจสอบ คัดเลือกเซลล์อย่างรอบคอบเพื่อความปลอดภัย และใช้ในโรคที่มีหลักฐานสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น

ผศ. ดร. นพ. นิพัญจน์ กล่าวอีกว่าการใช้สเต็มเซลล์ในความเข้าใจที่ผิดนั้นมีอยู่มากมาย อย่างการฉีดสเต็มเซลล์ของสัตว์เพื่อใช้ในด้านความงามเป็นการฉีดเซลล์ของสัตว์เข้ามาในร่างกาย ซึ่งถือว่ามีอันตรายมากกว่ามีประโยชน์ ส่วนสเต็มเซลล์ที่จากตัวเองนั้น หากใช้ผิดวิธีก็มีอันตรายเช่นกัน อย่างเซลล์เลือดที่ฉีดเข้าไปในไต อาจกลายเป็นเนื้องอกในไตได้ [ในทำนองเดียวกัน]

แม้แพทยสภาจะห้ามการนำสเต็มเซลล์มาใช้ในผู้ป่วย นอกจากจะเป็นโรคระบบโรคเลือด หรือเป็นโครงการวิจัยที่ได้ผ่านการตรวจสอบแล้ว แต่ก็ยังข่าวมีคลินิกเปิดรักษาด้วยสเต็มเซลล์ในโรคที่ไม่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อยู่เสมอๆ ทั้งนี้ หากมีการใช้สเต็มเซลล์รักษาคน นอกจากโรคเลือดซึ่งเป็นมาตรฐานแล้วในประเทศไทย ก็ยังถือว่าเป็นการทำเพื่อการพัฒนาการแพทย์จึงห้ามคิดค่าใช้จ่ายกับคนไข้

นอกจากนี้ ผศ. ดร. นพ. นิพัญจน์ ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการเก็บสเต็มเซลล์ของเด็กแรกเกิดเพื่อให้ใช้รักษาโรคในอนาคตว่าไม่จำเป็น เพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก โดยคิดค่าเก็บรักษาตามระยะเวลา หากเก็บไว้เพียง 10 ปีก็ไม่คุ้มเพราะอาจยังไม่ได้ใช้รักษาโรค และหากเก็บในตอนโตก็ไม่ต่างกันเพราะปัจจุบันมีวิทยาการของเซลล์ไอพีเอสที่ ย้อนไปสู่เซลล์กำเนิดได้

ผศ. ดร. นพ. นิพัญจน์ สรุปในท้ายสุดว่า สเต็มเซลล์ในด้านดีก็มีอยู่จริง เพียงแต่ต้องใช้อย่างถูกต้อง ถูกกระบวนการ

แหล่งข้อมูล

  1. สเต็มเซลล์” กระชากเหี่ยวหรือเสี่ยงมะเร็ง? ดารา นักการเมือง นักธุรกิจ คลั่งฉีด!! http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9560000021493 [2013, April 6].