“สเต็มเซลล์” ตัวช่วยหรือตัวเสี่ยง (ตอนที่ 1)

เซลล์ต้นกำเนิดหรือที่เรียกกันว่า “สเต็มเซลล์” (Stem cells) คำนี้เป็นคำที่สร้างปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ให้ความหวังว่าจะสามารถรักษาโรคได้ทุกโรค เป็นชื่อของสิ่งมหัศจรรย์ในโลกยุคใหม่ในการไขว่คว้าที่จะมีชีวิตอันยืนยาว หรือการยืดความหนุ่มสาวของมนุษย์

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมางานวิจัยทางด้านสเต็มเซลล์มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมาก ทำให้เกิดความหวังกับนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่จะหาแนวทางรักษาโรคที่ในอดีตคิดกันว่า ไม่มีทางรักษาได้แน่นอน

ไม่แปลกที่ไม่นานต่อมา สเต็มเซลล์จะกลายเป็นชื่อของสิ่งวิเศษที่สามารถเสริมความงาม กระชากวัย จนมีข่าวว่า ดาราหลายคนบินรัดฟ้าไปฉีดสเต็มเซลล์ที่ดึงเอาความเยาว์วัยกลับมากันหลายคน แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากสิ่งที่ได้แทนที่จะเป็นความหนุ่มสาวกลับกลายเป็น “มะเร็ง”?

ผศ. ดร. นพ. นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา หัวหน้าศูนย์วิจัยเซลล์ต้นกำเนิด และเซลล์บำบัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เห็นถึงความเป็นไปได้ของความฝันที่จะมีการนำสเต็มเซลล์มาใช้ในทางการแพทย์อย่างกว้างขวางในอนาคต อย่างไรก็ดียังมีสิ่งที่บุคคลทั่วไปเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ โดยปัจจุบันโรคที่ใช้สเต็มเซลล์รักษาได้จริงยังมีจำกัดไม่กี่โรค

สเต็มเซลล์ เป็นเซลล์อ่อนของร่างกายที่พร้อมจะเจริญเติบโต แบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่เป็นเซลล์ลูก (Daughter cells) แต่ละเซลล์ในร่างกายของมนุษย์มีคุณสมบัติพิเศษในการแบ่งตัวให้เป็นเซลล์ของเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ในร่างกายได้ โดยยังคงมีความสามารถในการแบ่งตัวเองให้เป็นเซลล์ต้นกำเนิดเหมือนเดิม และสามารถพัฒนาเป็นเซลล์จำเพาะ (Differentiation) เพื่อไปทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น เซลล์เลือด เซลล์สมอง เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ หรือ เซลล์กระดูก

สรุปก็คือ สเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิดทุกชนิดจะต้องมีลักษณะพิเศษที่สำคัญ 2 ประการ คือ

  1. มีความสามารถในการแบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ได้ (Self-renewal) ในขณะที่ยังเป็นเซลล์ที่ไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจง (Undifferentiated state)
  2. มีความสามารถในการเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงได้ (Specialized cell types)

ปัจจุบัน มีความพยายามในการที่จะใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรคต่างๆ หรือที่เรียกว่า เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (Regenerative medicine) ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่งที่ใช้กระบวนการทางคลินิก เพื่อที่จะซ่อมแซม ทดแทนเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่ถูกทำลาย เป็นศาสตร์อย่างหนึ่งซึ่งใช้ความรู้จากหลายสาขาวิชา อาทิ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ ชีววิทยาศาสตร์และชีววัสดุ เพื่อพัฒนาสร้างเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ เพื่อทดแทนซ่อมแซมเนื้อเยื่อเดิมที่สึกหรอหรือสูญเสีย

ทั้งนี้ ผศ.ดร.นพ.นิพัญจน์ ได้กล่าวว่า แม้จะมีการใช้สเต็มเซลล์ไปสร้างเซลล์ที่ต้องการได้ในหลอดทดลอง แต่ก็ไม่ใช่ว่าฉีดเข้าไปในร่างกาย แล้วจะเกิดประโยชน์ ในทางตรงข้ามกัน การนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสมก็ทำให้เกิดอันตรายได้ เพราะยังมีรายละเอียดอีกมากที่ยังต้องศึกษา เพื่อให้เกิดประโยชน์จริงและลดอันตรายต่อผู้ป่วย แต่ที่แน่นอนคือ ยังก้าวไม่ถึงจุดที่จะสามารถรักษาโรคได้ทุกโรคตามที่หลายคนในสังคมเข้าใจ

แหล่งข้อมูล

  1. สเต็มเซลล์” กระชากเหี่ยวหรือเสี่ยงมะเร็ง? ดารา นักการเมือง นักธุรกิจ คลั่งฉีด!! http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9560000021493 [2013, April 2].
  2. Stem cells: What they are and what they do. http://www.mayoclinic.com/health/stem-cells/CA00081 [2013, April 2].
  3. Stem cell. http://en.wikipedia.org/wiki/Stem_cell [2013, April 2].