สุขภาพจิต ติดอันดับอีกครั้ง

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ศกนี้ว่า ขณะนี้มีประชาชนได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมกว่า 9 ล้านคน ได้มอบหมายให้กรมสุขภาพจิตเป็นหน่วยงานหลัก ในการเฝ้าระวังเร่งประเมินหาผู้ที่เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิต และจัดทำแผนฟื้นฟูสภาพจิตใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหารุนแรงทางจิตใจ โดยเฉพาะปัญหาการฆ่าตัวตาย จากข้อมูลล่าสุด ผลการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตประชาชนขณะนี้ พบว่า มีอาการเครียด 107,101 ราย ซึมเศร้า 6,214 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 878 ราย และมีผู้ที่ต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด 1,356 ราย

สุขภาพจิต (Mental Health) แสดงถึงระดับการรับรู้ (หรือความรู้สึก) ของสภาวะที่ดี ที่ถูกต้อง และที่ควร รวมทั้งความสามารถที่แต่ละบุคคลจะพึงพอใจต่อชีวิตความเป็นอยู่และความสมดุลระหว่างกิจกรรมต่างๆ กับความสามารถทางจิตที่จะฟื้นคืนสู่สภาพเดิม สุขภาพจิตสะท้อนถึงอารมณ์และความสามารถในการปรับตัวต่อความต้องการ [หรือข้อเรียกร้อง] และความทุกข์ยากต่างๆ นานา

องค์การอนามัยโลกได้นิยามว่า “สุขภาพจิต คือสภาวะที่ดี ซึ่งแต่ละบุคคลบรรลุขีดความสามารถในการรับมือกับความเครียดปรกติของชีวิต ทำงานอย่างมีผลิตภาพ (Productivity) และสร้างคุณประโยชน์แก่ชุมชนที่ตนอยู่” ในศตวรรษที่ 19 William Sweetzer ชาวแคนาดา เป็นคนแรกที่ใช้คำว่า “จิตอนามัย” (Mental hygiene) ซึ่งวิวัฒนามาเป็น “สุขภาพจิต” ในปัจจุบัน ในตอนต้นของศตวรรษที่ 20 Clifford Beers ก่อตั้งคลินิกสุขภาพจิตแห่งแรกในสหรัฐอเมริกา

การมีสุขภาพจิตที่ดี เป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิตที่ดีและยาวนาน เป็น “ศิลปของการดำรงความแข็งแกร่งของจิตใจที่จะต่อสู้กับอุบัติการณ์ หรืออิทธิพลที่จะขัดขวาง หรือทำลายพลังงาน คุณภาพ หรือพัฒนาการ” การศึกษาวิจัยแสดงหลักฐานว่า ความสามารถควบคุมอารมณ์ สัมพันธ์โดยตรงกับพฤติกรรมสนับสนุน [หรือไม่ต่อต้าน] สังคม อาทิ การจัดการความเครียด และการดูแลสุขภาพกาย

แต่หากสุขภาพจิตไม่ดี ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตตามปรกติ กล่าวคือผู้ไม่แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึก จะนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อาทิ การทำลาย [หรือทำร้าย] ตัวเอง อาจเกิดขึ้นเพื่อต่อสู้กับความรู้สึกที่ย่ำแย่จากการเสพยา และดื่มแอลกอฮอล์ การทำร้ายร่างกายผู้อื่น หรือการทำลายสาธารณสมบัติ เป็นต้น

ปัญหาสุขภาพจิตมีหลายชนิด บางชนิดจะพบบ่อย อาทิ ความเครียด (Stress) โรคซึมเศร้า (Depression) และโรควิตกกังวลผิดปรกติ (Anxiety disorder) ส่วนบางชนิดก็พบได้บ้าง [แต่ร้ายแรง] อาทิ โรคจิตเภท (Schizophrenia) และอารมณ์วิปลาส (Bipolar disorder)

การขาดการสนับสนุนทางสังคม หรืออารมณ์ หรือมีไม่เพียงพอ เป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพจิต กล่าวคือเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่อการบำบัดรักษาด้วยยาและจิตเวช เนื่องจากมีความเชื่อมโยงโดยตรงต่อพฤติกรรมของสุขภาพที่เลวร้าย ความไม่พอใจต่อชีวิต และสภาวะไร้สมรรถภาพ

การได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์จะช่วยลด (และป้องกัน) “ทุกขภาพจิต” (Mental health disorder) ระบบสนันสนุนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ล้ำค่า และนำไปสู่ความสามารถส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น การควบคุมอารมณ์ที่ดีขึ้น ความรู้สึกมั่นคงขึ้น การรับรู้คุณค่าของตนเอง และผลกระทบในเชิงบวกต่อคุณภาพของชีวิต

องค์การอนามัยโลก เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลกเจ็บป่วยทางจิต โดยมีอาการของความรู้สึกเลวร้ายต่อคุณค่าตนเอง ทำลายความสัมพันธ์ [กับผู้อื่น] และจำกัดความสามารถในเรื่องการดูแลบ้าน งานที่ทำ และการศึกษา

แหล่งข้อมูล:

  1. ปชช.เครียดน้ำท่วมกว่า 1 แสน เสี่ยงฆ่าตัวตาย 878 คน http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9540000137605&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8% [2011, October 30].
  2. Mental Health. http://en.wikipedia.org/wiki/Mental_health [2011, October 30].