สุขภาพจิต จากวิกฤตน้ำท่วม

นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วย ว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงผลกระทบของภัยน้ำท่วมที่มีต่อสุขภาพจิตเมื่วันที่ 2 ตุลาคม ศกนี้ว่า ผลการตรวจประเมินสุขภาพจิต พบผู้มีความเครียด สูง 1,520 ราย มีอาการซึมเศร้า 3,239 ราย มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 389 ราย และต้องติดตามดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษ 554 ราย แต่ล่าสุด [9 ตุลาคม ศกนี้] ยอมรับว่า จำนวนผู้ป่วยโรคเครียดเพิ่มสูงขึ้นนับหมื่นราย และมีผู้อยู่ในข่ายความเครียดสูงสุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเป็น กว่า 1,500 คน

กระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบการดูแล 3 รูปแบบ คือ

  1. จัดทีมสุขภาพจิต ร่วมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รักษาโรคทางกาย ซึ่งกระจายบริการตามจุดอพยพประชาชนที่บ้านถูกน้ำท่วมหนักจนอยู่ไม่ได้
  2. หน่วยแพทย์เคลื่อนที่บริการตามหมู่บ้าน และ
  3. ทีมเยี่ยมบ้านชนิดเคาะประตูบ้าน เยี่ยมดูอาการผู้ที่เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิตง่าย เช่น ผู้ป่วยจิตเวช ผู้สูงอายุที่ไม่มีคนดูแล ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว และมีสายด่วนเปิดให้บริการปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง ทางหมายเลข 1323 ฟรี

ความเครียด (Stress) เป็นศัพท์ทางจิตวิทยาและชีววิทยา ซึ่งหมายถึงผลจากความล้มเหลวในการตอบสนองอย่างเพียงพอ เหมาะสม ต่อความต้องการทางจิตใจ อารมณ์ และกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริง หรือจินตนาการเอง สัญญาณความเครียดอาจแสดงออกผ่านการรับรู้ อารมณ์ กายภาพ หรือพฤติกรรม มีตัวอย่างมากมายดังต่อไปนี้

การตัดสินใจที่ผิดพลาด การมองอนาคตในแง่ลบ ความกังวลจนเกินเหตุ อารมณ์ฉุนเฉียว ความหงุดหงิด รำคาญใจ ความกระวนกระวายใจ ความไม่สามารถผ่อนคลาย รู้สึกโดดเดี่ยว ปลีกวิเวก หรือซึมเศร้า สิวขึ้น เจ็บปวด ท้องร่วง/ท้องเสีย หรือท้องผูก คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว กินจุหรือกินไม่พอ นอนหลับอุตุ หรือนอนไม่หลับ แยกตัวจากสังคม ผัดวันประกันพรุ่ง หรือละเลยความรับผิดชอบ ดื่มเหล้าจัด สูบบุหรี่จัด หรือเสพยา และนิสัยกังวล อาทิ เดินไปเดินมา กัดเล็บ และปวดต้นคอ

การปฏิบัติตนเพื่อคลายความเครียด อยู่ที่การรู้จักปรับตัวทางจิตวิทยา ในการจัดการกับความเครียด ความวิตกกังวล และความหดหู่ ในระยะยาวความเครียดอาจนำไปสู่ภาวระที่เรื้อรัง (Chronic) และสุขภาพที่เสื่อมโทรม และหรือแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยได้ง่าย เราสามารถจัดการกับความเครียด โดยควบคุมต้นเหตุของความเครียด หรือเรียนรู้ที่จะจำกัดข้อเรียกร้องของผู้อื่น และหางานอดิเรกทำ อาทิ ฟังดนตรี เล่นกีฬา หรือท่องเที่ยวให้สนุกสนาน

ส่วนโรคซึมเศร้า (Depression) เป็นความผิดปกติของจิต (Mental disorder) ที่ประกอบด้วยความรู้สึกหดหู่ ประเมินค่าตนเองต่ำ และหมดความสนใจ หรือความพอใจในกิจกรรมตามปกติ โรคซึมเศร้าเป็นภาวะที่มีผลกระทบในเชิงลบต่อครอบครัว ชีวิตงาน หรือการเรียน นิสัยการนอน หรือกิน และสุขภาวะของผู้ป่วย จนบางรายถึงกับฆ่าตัวตาย

การวินิจฉัยโรค โดยฟังจากการบอกเล่าของผู้ป่วยเอง พฤติกรรมของผู้ป่วยจากการบอกเล่าของญาติ และการตรวจสภาพจิตผู้ป่วย แต่จะไม่มีผลตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการ (Laboratory) ส่วนการรักษามีทั้ง ให้ยาและจิตบำบัด หรือให้การแนะนำ แม้ว่าการให้ยาในกรณีโรคซึมเศร้าระดับอ่อนถึงปานกลางมักไม่ได้ผล การรักษาตัวในโรงพยาบาล อาจจำเป็นกรณีที่มีความเสี่ยงสูงว่า จะทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น การรักษาอาจสั้นเพียงหลายสัปดาห์หรือยาวนานชั่วชีวิต

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีอายุสั้นกว่าคนปกติทั่วไป เพราะมีแนวโน้มสูงที่จะเจ็บไข้ได้ป่วยและฆ่าตัวตาย ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าการให้ยามีผลกระทบต่อความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยหรือไม่ แต่ที่รู้แน่ๆ ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกเหมือนมี “ชนักติดหลัง” หรือ “ตราบาป” (Stigma) ไปตลอดชีวิต

แหล่งข้อมูล:

  1. “ต่อพงษ์” เผยผู้ประสบภัยเป็นโรคเครียดสูงนับหมื่นราย เสี่ยงฆ่าตัวตายนับพัน http://manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9540000128504 [2 และ 9 ตุลาคม 2011].
  2. Stress (biology). http://en.wikipedia.org/wiki/Stress_(biology) [10 ตุลาคม 2011].
  3. Major depressive disorder. http://en.wikipedia.org/wiki/Major_depressive_disorder [10 ตุลาคม 2011].