สุขภาพจิต กับชีวิตซึมเศร้า (ตอนที่ 4)

นอกจากการรักษาด้วยยาซึ่งเป็นไปตามที่แพทย์แนะนำแล้ว การบำบัดจิต (Psychotherapy) ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี เป็นการบำบัดที่ผู้ป่วยพูดคุยถึงลักษณะอาการต่างๆ กับนักบำบัด การพูดคุยดังกล่าวนั้น ทำให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้เกี่ยวกับต้นเหตุของภาวะซึมเศร้า เพื่อที่จะได้เข้าใจมันได้ดีขึ้น

การบำบัดจิต ยังสามารถระบุและแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพจิตใจและความคิด สำรวจความสัมพันธ์และประสบการณ์ เพื่อหาวิธีรับมือและแก้ปัญหาที่ดีขึ้น และเพื่อตั้งเป้าหมายชีวิตที่ทำได้จริง การบำบัดจิตจะช่วยคุณกลับมามีความสุขและควบคุมชีวิตตัวเองได้อีกครั้ง ช่วยบรรเทาอาการสิ้นหวังและความโกรธจากภาวะซึมเศร้า และยังอาจช่วยปรับตัวคุณให้รับกับวิกฤตและอุปสรรคต่างๆในชีวิตได้

วิธีการบำบัดจิตที่ใช้กันมากที่สุดคือ วิธีบำบัดด้านพฤติกรรมการรับรู้ (Cognitive behavioral therapy) ซึ่งช่วยระบุตัวความคิดและพฤติกรรมในแง่ลบ และแทนที่สิ่งแง่ลบเหล่านั้นด้วยสิ่งที่สุขภาพดีและเป็นแง่บวก วิธีนี้มีหลักการที่ว่า “ความคิดของเราเท่านั้นที่กำหนดความรู้สึกและการกระทำของเรา”

ดังนั้น แม้สถานการณ์ไม่พึงประสงค์จะไม่เปลี่ยน แต่คุณก็สามารถเปลี่ยนวิธีคิดและการกระทำไปในแง่บวกได้นั่นเองแม้ภาวะซึมเศร้าจะไม่ใช่โรคภัยไข้เจ็บที่เราสามารถรักษาให้หายได้ด้วยตัวคนเดียว แต่เราก็สามารถทำอะไรเพื่อตัวเองที่จะมีส่วนช่วยได้ ดังนั้น นอกจากการรักษาโดยมืออาชีพแล้ว เรายังสามารถทำตามขั้นตอนการดูแลรักษาตัวเองได้ดังนี้

  • ทำตามแผนการรักษาตัวเอง อย่าพลาดนัดหมายการบำบัดจิต แม้เราจะไม่รู้สึกอยากไปก็ตาม และอย่าหยุดทานยา แม้คุณจะรู้สึกดีอยู่ก็ตาม เพราะหากคุณหยุด อาการของภาวะซึมเศร้าจะกลับมา และคุณอาจประสบกับอาการลงแดงเมื่อขาดยา
  • ศึกษาเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า การศึกษาเกี่ยวกับอาการที่คุณเป็น ทำให้คุณมีกำลังใจที่จะทำตามแผนการรักษาตัวเองต่อไป
  • หมั่นสังเกตสัญญาณเตือนต่าง ปรึกษาแพทย์หรือนักบำบัดของคุณ เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการภาวะซึมเศร้าของคุณ จากนั้นวางแผนเพื่อที่คุณจะได้รู้ว่าควรทำอย่างไร เมื่ออาการแย่ลง ติดต่อแพทย์หรือนักบำบัดเพื่อบอกเล่าความเปลี่ยนแปลงทางอาการหรือความรู้สึก ขอให้คนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทช่วยสังเกตสัญญาณเตือนเหล่านี้ด้วย
  • ออกกำลังกาย กิจกรรมทางกายจะช่วยลดอาการของภาวะซึมเศร้า ลองออกกำลังด้วยการเดิน วิ่งจ๊อกกิ้ง ว่ายน้ำ ทำสวน หรือกิจกรรมอื่นๆที่คุณชื่นชอบ
  • แอลกอฮอล์และยาเสพย์ติด เมื่อดูเพียงผิวเผิน การใช้แอลกอฮอล์หรือยาอาจทำให้ภาวะซึมเศร้าออกอาการน้อยลง แต่ในระยะยาวแล้วกลับทำให้อาการต่างๆแย่ลง และยากขึ้นที่จะรักษาให้หาย
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับอย่างเพียงพอสำคัญต่อทั้งสุขภาพกายและใจของคุณ หากคุณมีปัญหานอนไม่หลับ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้

แหล่งข้อมูล:

  1. [Depression (major depression)] Psychotherapy. http://www.mayoclinic.com/health/depression/DS00175/DSECTION=treatments-and-drugs [2012, November 15].
  2. [Depression (major depression)] Lifestyle and home remedies. http://www.mayoclinic.com/health/depression/DS00175/DSECTION=lifestyle-and-home-remedies [2012, November 15].