สุขภาพจิต กับชีวิตซึมเศร้า (ตอนที่ 1)

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพังงา ได้จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติในวันที่ 1 - 7 พฤศจิกา ยน 2555 โดยจัดให้มีการจัดนิทรรศการ “ความสุขสร้างได้ด้วยรอยยิ้ม” เพื่อประเมินความสุข และความเครียดของประชาชน ที่มาร่วมงาน โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 100 คน

ทางด้านนายแพทย์สรรพงษ์ ฤทธิรักษา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพังงากล่าวว่า มติของคณะรัฐมนตรีได้กำหนด ให้สัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ โดยปีนี้กำหนดหัวข้อรณรงค์ว่า “ความสุขสร้างได้ด้วยรอยยิ้ม” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพจิต และแนวทางปฏิบัติตนเสริมสร้างความสุข

นอกจากนี้ยังต้องการเสริมสร้างความเข้มแข็งของจิตใจ ให้ประชาชนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถมองเห็นปัญหาและอุปสรรคในมุมบวก ซึ่งจะช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ประสบปัญหาเศรษฐกิจ สังคม หรือภัยพิบัติ ต่างๆ ใช้เป็นแรงขับเคลื่อน ที่จะก้าวผ่านวิกฤต และสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ

ท่ามกลางสภาพสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยเรื่องหนักอกหนักใจ ไม่ว่าจะมาจากสภาพแวดล้อม สื่อต่างๆ คนรอบข้าง หรือความคิดของตัวเอง ล้วนทำให้คนเกิดอาการเครียดได้ง่าย อาการเครียดดังกล่าว หากเกิดไม่มาก อาจเป็นแรงกระตุ้นที่ดี แต่ถ้าเกิดมาก ลุกลามไปไกลจนคุมไม่อยู่ อาจกลายเป็นภาวะซึมเศร้า (Depression) โดยไม่รู้ตัว

ภาวะซึมเศร้า เป็นอาการป่วยที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเศร้าและสูญเสียความสนใจเรื้อรัง นอกจากจะมีผลกระทบ ต่อความรู้สึกนึกคิด และการกระทำของเราแล้ว ยังเป็นอาการป่วยทางใจที่กระทบต่อร่างกายด้วย อาจทำให้เรามีปัญหาในการ ทำกิจวัตรประจำวันที่เคยทำตามปกติ และยังอาจทำให้เรารู้สึกเหมือนไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป

ภาวะซึมเศร้าจึงไม่ได้เป็นเพียงจุดอ่อน และไม่ใช่จะกำจัดได้ทันทีทันใด แต่เป็นอาการป่วยเรื้อรังที่มักต้องใช้เวลา ในการรักษา เหมือนโรคเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าจะรู้สึกดีขึ้นมาก โดยการรักษาด้วย ยา การได้รับคำปรึกษาด้านสุขภาพจิต และการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ

ลักษณะอาการของภาวะซึมเศร้านั้นแตกต่างกันไปตามบุคคล แต่ละคนมักได้รับผลกระทบที่ไม่เหมือนกัน ล้วนขึ้นอยู่ กับลักษณะทางพันธุกรรม อายุ เพศ พื้นเพวัฒนธรรมของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม ลักษณะอาการโดยทั่วไปของผู้ที่ป่วยเป็น ภาวะซึมเศร้านั้น มีดังนี้:

ขาดความสุข หงุดหงิดหรือคับข้องใจ แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ สูญเสียความสนใจหรือความกระตือรือร้น ในการทำกิจ กรรมตามปกติ สมรรถภาพทางเพศลดลง นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป ความเปลี่ยนแปลงทางความอยากอาหาร (โดย มากภาวะซึมเศร้า หรือความเครียดมักทำให้ความอยากอาหารลดลง และน้ำหนักลด แต่บางกรณี ก็ให้ผลตรงกันข้าม)

นอกจากนี้ ยังกระสับกระส่ายหรืออยู่ไม่สุข (เช่น เดินไปมา มือบิดไปมา หรือนั่งเฉยๆ ไม่ได้) ระเบิดอารมณ์รุนแรง คิด-พูด-เคลื่อนไหวช้าลง แปรปรวน เหม่อลอย ไม่มีสมาธิ เหนื่อยอ่อนและไม่มีแรง แม้กระทั่งงานเล็กๆ น้อยๆ แล้วยังรู้สึกไร้ค่าหรือ รู้สึกผิด (เฝ้าแต่คิดเรื่องความล้มเหลวในอดีต หรือโทษตัวเองเมื่อเกิดปัญหา) มีปัญหาในการจดจำ คิดเรื่องความตายและฆ่าตัวตายบ่อยๆ ร้องไห้แบบไร้เหตุผล และอาการทางร่างกายที่ไม่สามารถอธิบายที่มาได้ เช่น ปวดหลัง และปวดศีรษะ

แหล่งข้อมูล:

  1. สสจ.พังงาจัดกิจกรรมสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9550000134506&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, November 12].
  2. [Depression (major depression)] Definition. http://www.mayoclinic.com/health/depression/DS00175 [2012, November 12].
  3. [Depression (major depression)] Symptoms. http://www.mayoclinic.com/health/depression/DS00175/DSECTION=symptoms [2012, November 12].