สุกใส (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์ที่เป็นสุกใส อาจมีภาวะแทรกซ้อนสามารถทำให้ทารกมีปัญหา เช่น น้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ แขนขาผิดปกติ และอาจมีผลร้ายแรงต่อชีวิตของทารกหากแม่เป็นสุกใสในสัปดาห์ก่อนคลอด

เมื่อเป็นสุกใสแล้วจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส Varicella-zoster หรือที่เรียกว่า โรคงูสวัด (Shingles) ด้วย เพราะภายหลังการเป็นสุกใส เชื้อไวรัสนี้จะเกาะอยู่ที่เซลล์ประสาทและสามารถทำให้เกิดโรคงูสวัดได้ ซึ่งมักเกิดกับผู้สูงอายุที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ โดยการเป็นโรคงูสวัส มักจะตามด้วยอาการแทรกซ้อน คือ อาการปวดประสาท (Postherpetic neuralgia)

สำหรับการรักษานั้น ในเด็กที่มีสุขภาพดีสุกใสจะหายไปได้เอง แต่ถ้าเป็นคนที่มีความเสี่ยงแล้ว แพทย์อาจจ่ายยาเพื่อให้หายเร็วขึ้นและช่วยลดความเสี่ยงของอาการแทรกซ้อน เช่น ยา Acyclovir (Zovirax) หรือ ยา Immune globulin intravenous (IGIV)

สำหรับการดูแลร่างกายโดยทั่วไป ก็คือ การไม่เกา เพราะการเกาอาจทำให้เป็นแผลเป็น หายช้า และอาจปวดเพราะการติดเชื้อได้ โดยเฉพาะเด็กควรตัดเล็บให้สั้นหรือสวมถุงมือระหว่างนอนตอนกลางคืน

ส่วนการแก้ไขอาการคัน แสบ จากแผลผุพอง นั้นอาจช่วยโดย

  • อาบน้ำเย็นที่ผสมเบคกิ้งโซดา (Baking soda)
  • ใช้คาลาไมน์โลชั่น (Calamine lotion) ป้ายตรงจุดที่เป็น
  • หากมีแผลสุกใสเกิดในปาก ให้กินอาหารอ่อนรสจืด
  • กินยาแก้ปวดกลุ่ม Acetaminophen หรือ Ibuprofen แต่ห้ามใช้ยาแอสไพรินเพราะอาจทำให้เกิดอาการราย (Reye’s syndrome)

ส่วนการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การฉีดวัคซีน ซึ่งทาง Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ของสหรัฐอเมริกาประเมินว่า เด็กประมาณร้อยละ 90 ที่ได้รับวัคซีนสามารถป้องกันการเป็นสุกใสได้อย่างเต็มที่ หรือมิฉะนั้นก็ช่วยลดความรุนแรงลงได้

  • สำหรับเด็กเล็ก ในสหรัฐอเมริกาเด็กจะได้รับวัคซีน 2 ครั้ง โดยครั้งแรกที่อายุระหว่าง 12-15 เดือน และครั้งที่สองที่อายุระหว่าง 4-6 ปี
  • ส่วนเด็กที่อายุระหว่าง 7-12 ปี ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน ควรฉีดวัคซีน 2 ครั้ง โดยห่างกัน 3 เดือน ส่วนเด็กโตที่อายุมากกว่า 13 ปี ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน ควรฉีดวัคซีน 2 ครั้ง โดยห่างกัน 4 สัปดาห์
  • ในผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงในการติดโรค ซึ่งได้แก่ ครู พนักงานดูแลเด็ก ผู้เดินทางระหว่างประเทศ ทหาร ผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็ก และสตรีในวัยที่มีบุตรที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน ควรได้รับวัคซีน 2 ครั้ง โดยห่างกัน 4-8 สัปดาห์

ทั้งนี้หากไม่แน่ใจว่าเคยได้รับวัคซีนหรือไม่ อาจใช้การตรวจเลือดดู และหากเคยเป็นสุกใสแล้วก็ไม่ต้องฉีดวัคซีนอีก เพราะร่างกายจะมีภูมิต้านทานไปตลอดชีวิต มีน้อยรายที่ในชีวิตจะเป็นสุกใสมากกว่า 1 ครั้ง สำหรับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนนั้นมีน้อย โดยอาจทำให้แดง ปวด บวม และเป็นตุ่มบริเวณที่ฉีด อย่างไรก็ดีสำหรับผู้สูงอายุที่มากกว่า 60 ปี อาจพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันงูสวัดด้วย

แหล่งข้อมูล

  1. Chickenpox. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/chickenpox/basics/definition/con-20019025 [2014, November 7].