สึกแล้วสึกเลยนะ (ตอนที่ 4)

สึกแล้วสึกเลยนะ-4

      

      ส่วนสาเหตุภายนอก (Extrinsic Causes) ส่วนใหญ่ได้แก่ อาหารการกิน การใช้ชีวิต (Lifestyle) สภาพแวดล้อม หรือ ปัจจัยด้านอาชีพ เช่น

      o เครื่องดื่ม (Beverages) ส่วนใหญ่ที่ทำให้ฟันสึก ได้แก่ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ที่มีค่า pH ต่ำ (2.0-3.5) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่มีการดื่มบ่อย

      o การใช้ชีวิต (Lifestyle) ที่มีการบริโภคน้ำผลไม้ที่เป็นกรดสูง และเครื่องดื่มเกลือแร่ (Sport drinks) ที่ใช้รักษาภาวะขาดน้ำของนักกีฬาหรือผู้ที่ต้องทำงานหนัก หรือการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่าง ชา กาแฟ ที่ลดระดับน้ำในร่างกายและลดปริมาณน้ำลาย อาจเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้ฟันสึกมากขึ้น

      o ความเสี่ยงจากอุตสาหกรรมและอาชีพ (Industrial and Occupational Risks) เช่น กรดที่ลอยมาทางอากาศในโรงงานผลิตอาวุธ แบตเตอรี่ และปุ๋ย หรืออาชีพนักว่ายน้ำที่ต้องสัมผัสกับคลอรีนในสระอยู่เป็นประจำ ก็ล้วนเพิ่มความเสี่ยงในการฟันสึกเนื่องจากน้ำมีค่าความเป็นด่างต่ำ

      เมื่อสารเคลือบฟันถูกทำลาย ฟันจะผุได้ง่ายขึ้น โดยในระยะแรกโพรงเล็กอาจไม่ก่อให้เกิดปัญหา แต่เมื่อมีการผุมากขึ้นและเจาะเข้าเนื้อฟัน ก็จะมีผลกระทบต่อประสาทฟัน เป็นผลให้มีการปวดมากเป็นฝีหรือติดเชื้อ

      เนื่องจากฟันสึกเป็นสภาพที่แก้ให้กลับคืนไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องระวังในเรื่องการป้องกันและการลดความเสี่ยงลง โดยงานวิจัยส่วนใหญ่พบว่า นมและผลิตภัณฑ์โยเกิร์ต (ชนิดไม่หวาน) สามารถให้ผลป้องกันการสึกได้ เพราะมีธาตุแคลเซียมและฟอสเฟต

      สำหรับการป้องกันการสูญเสียเคลือบฟันและทำให้ฟันมีสุขภาพแข็งแรง ทำได้ด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันทุกวัน และไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจช่องปากทุก 6 เดือน นอกจากนี้อาจดูแลตัวเองด้วยการ

  • กินอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารครบถ้วนได้สัดส่วน (Well-balanced diet)
  • กินผลไม้สดดีกว่าดื่มน้ำผลไม้
  • ลดอาหารและเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรดสูง เช่น โซดา (Carbonated sodas) ผลไม้ตระกูลส้ม (Citrus fruits)อย่างไรก็ดี หากต้องการดื่มควรดื่มพร้อมอาหารทันที
  • ใช้หลอดดูดเครื่องดื่มที่เป็นกรด หรือกลืนลงกระเพาะทันที อย่าอมไว้ในปาก ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับฟัน
  • จำกัดของขบเคี้ยว (Snacks) เพราะการกินของขบเคี้ยวทั้งวันจะเพิ่มโอกาสที่ฟันจะผุ เพราะปากจะมีกรดอยู่ 1-2 ชั่วโมง หลังการกินอาหารพวกน้ำตาลและแป้ง
  • ดื่มน้ำให้มาก โดยเฉพาะกรณีที่ปากแห้ง
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ (Stannous fluoride) เพื่อลดอาการฟันสึก
  • อาจเคี้ยวหมากฝรั่งไร้น้ำตาล (Sugarless gum) เพื่อเพิ่มน้ำลาย

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Causes and Treatment of Tooth Erosion. https://gpdentalpartners.com.au/education/causes-treatment-of-tooth-erosion/ [2018, October 13].
  2. Erosion: What You Eat and Drink Can Impact Teeth. https://www.mouthhealthy.org/en/az-topics/e/dietary-acids-and-your-teeth [2018, October 13].
  3. Dental erosion. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/ConditionsAndTreatments/dental-erosion [2018, October 13].
  4. Dental Erosion. https://www.ada.org/en/member-center/oral-health-topics/dental-erosion [2018, October 13].