สึกแล้วสึกเลยนะ (ตอนที่ 2)

สึกแล้วสึกเลยนะ-2

      

      ทางด้านทันตแพทย์หญิงภารณี ชวาลวุฒิ หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวว่า ผู้ป่วยจิตเวชทุกคนรวมทั้งผู้ป่วยทางจิตที่มีสาเหตุจากติดสุรานั้น เมื่อได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและมีอาการสงบแล้ว ก็จะมีความปกติเช่นคนทั่วๆ ไป ทันตแพทย์หรือบุคลากรด้านทันตสุขภาพ สามารถให้การรักษาโรคช่องปากไม่แตกต่างจากประชาชนทั่วๆ ไป ไม่มีสิ่งใดที่เป็นวิธีการแบบเฉพาะเจาะจงหรือข้อควรระวังเช่นผู้ป่วยเบาหวานหรือโรคหัวใจแต่อย่างใด

      หากผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลรักษา ก็จะทำให้เกิดอาการเหงือกอักเสบ บวมแดง มีเลือดออกได้ง่าย มีการสูญเสียกระดูกเบ้าฟัน ฟันโยก ฟันหลุด เหมือนผู้ป่วยอื่น ๆ แต่จะเป็นเร็วกว่าคนที่อยู่ในช่วงอายุเดียวกัน ดังนั้นการส่งเสริมป้องกันด้านทันตสุขภาพจึงเป็นแนวทางที่จะช่วยลดความรุนแรงของโรคทางช่องปากที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้ป่วยโรคติดสุราได้

      ฟันสึก (Dental erosion / Tooth erosion) เป็นการสูญเสียสารเคลือบฟัน (Tooth enamel) จากการโดนกรดกัด เพราะเคลือบฟันเป็นสารที่แข็งที่สุด (แข็งกว่ากระดูก) คอยปกป้องฟัน เมื่อเคลือบฟันกร่อนลง เนื้อฟันที่อยู่ข้างใต้และไวต่อความรู้สึกจะโผล่ออกมา ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดและมีภาวะเสียวฟัน (Sensitivity)

      ทุกครั้งที่เรากินหรือดื่มสิ่งที่มีฤทธิ์เป็นกรด เคลือบฟันจะอ่อนตัวลงและสลายแร่ธาตุบางอย่างออกไป น้ำลายในปากจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องกรดในปากและทำให้ปากกลับมามีสภาพสมดุลตามธรรมชาติ อย่างไรก็ดี หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบ่อยๆ ปากจะไม่มีโอกาสซ่อมแซมตัวเองและสารเคลือบฟันก็จะหลุดไป จนเห็นผิวของเนื้อฟัน

      สารเคลือบฟันมีสีใส (Translucent) เกิดจาก Carbonated calcium hydroxyapatite ที่มีค่าความเป็นด่างประมาณ 5.5 ถูกรักษาให้อยู่ในภาวะสมดุลด้วยน้ำลายที่มีส่วนประกอบไม่เพียงแต่กรดที่เป็นกลาง (Neutralize acids) ยังประกอบด้วยฟอสเฟต (Phosphate) และแคลเซี่ยมอิออน (Calcium ions) ที่ช่วยทำให้เกิดขบวนการสะสมกลับของแร่ธาตุที่ผิวฟัน (Remineralization)

      สารเคลือบฟันช่วยป้องกันฟันจากการใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น การเคี้ยว การกัด การบด (Crunching) ไม่เหมือนกระดูกส่วนอื่นที่ร่างกายสามารถซ่อมแซมตัวเองได้เมื่อกระดูกแตกหรือหัก แต่สำหรับเคลือบฟันแล้วทำไม่ได้เนื่องจากเคลือบฟันไม่มีเซลล์ที่มีชีวิต ร่างกายจึงไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้เมื่อสารเคลือบฟันถูกทำลายไปแล้ว

      จากการศึกษาแบบ Meta-analysis ในปี พ.ศ.2558 พบว่า ร้อยละ 34.1 ของเด็กและผู้ใหญ่จำนวน 16,661คนทั่วโลกมีปัญหาเรื่องฟันสึก

      อาการของฟันสึกแตกต่างกันขึ้นกับระยะที่เป็น เช่น

  • อาหารบางชนิด (ของหวาน) และอุณหภูมิ (ร้อนหรือเย็น) อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดเสียว (Twinge) ในระยะแรกที่สารเคลือบฟันถูกทำลาย
  • เมื่อสารเคลือบฟันถูกทำลายและเนื้อฟันโผล่ขึ้นมา ฟันจะปรากฏเป็นสีเหลือง
  • กระเทาะและแตก (Cracks and chips) ขอบฟันจะขรุขระ ผิดปกติ เป็นหยัก เพราะสารเคลือบฟันหายไป
  • มีรอยบุ๋ม (Indentation) ปรากฏบนผิวฟัน
  • ฟันผุมากขึ้น
  • ในกรณีที่ร้ายแรง อาจเกิดฝีหรือฟันหลุดได้

      

แหล่งข้อมูล:

  1. รพ.สวนปรุง วิจัยพบผู้ป่วยติดเหล้า “ฟันสึก” สูงถึงร้อยละ 91 จากฤทธิ์แอลกอฮอล์ นอนกัดฟัน เร่งแก้ไขป้องกัน !!http://www.prdmh.com/ข่าวแจกกรมสุขภาพจิต/1203-รพ-สวนปรุง-วิจัยพบผู้ป่วยติดเหล้า- “ฟันสึก”-สูงถึงร้อยละ- 91-จากฤทธิ์แอลกอฮอล์-นอนกัดฟัน-เร่งแก้ไขป้องกัน.html [2018, October 11].
  2. Dental erosion. https://www.dentalhealth.org/dental-erosion [2018, October 11].
  3. Causes and Treatment of Tooth Erosion. https://gpdentalpartners.com.au/education/causes-treatment-of-tooth-erosion/ [2018, October 11].
  4. Dental Erosion. https://www.ada.org/en/member-center/oral-health-topics/dental-erosion [2018, October 11].
  5. Tooth Enamel Erosion and Restoration. https://www.webmd.com/oral-health/guide/tooth-enamel-erosion-restoration#1 [2018, October 11].