สารเสพติด ยอดฮิตของเยาวชน (ตอนที่ 5 และตอนสุดท้าย)

อนุสนธิข่าวต่อจากวันก่อน ยาเสพติดที่ใช้กันมากในหมู่เยาวชนไทย รองจากกัญชา และยาบ้า คือยาไอซ์ (Methamphetamine) ซึ่งเป็นยาที่เพิ่มความตื่นตัว สมาธิ พลังงาน และหากเสพในปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดภาวะครึ้มใจเคลิ้มสุข เพิ่มความเชื่อมั่นในตนเอง และตัณหาราคะ สันนิษฐานว่าชื่อ “ยาไอซ์” มาจากลักษณะตกผลึก (Crystal) ของยาคล้ายน้ำแข็ง (Ice)

ในสหรัฐอเมริกา ยานี้ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการอารหารและยา (Food and Drug Administration : FDA) ให้จำหน่ายได้ (ภายใต้ชื่อการค้าว่า Desoxyn) สำหรับการรักษาโรคสมาธิสั้นและจิตไม่สงบ (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD) และโรคอ้วน (Obesity) แต่ถ้าเสพจนเรื้อรังหรือปริมาณมากแบบเฉียบพลัน ก็จะเป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะต่อหลอดเลือดหัวใจ

แต่เนื่องจากเป็นยาพิษต่อประสาท (Neurotoxicity) การใช้จนเรื้อรัง อาจนำไปสู่อาการถอนพิษยาเฉียบพลัน (Acute withdrawal) ซึ่งจะยังคงค้างอยู่อย่างต่อเนื่องหลังระยะถอนพิษยาหลายเดือนหรือเป็นปี การศึกษาวิจัยจากนักโทษสตรีชาวญี่ปุ่น ซึ่งเสพติดยาไอซ์นี้ แสดงให้เห็นว่า 20% จะเป็นโรคจิตที่คล้ายกับจิตเภท (Schizophrenia) เป็นเวลายาวนานกว่า 6 เดือน หลังจากเสพยาไอซ์นี้

ในสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการจ่ายยาตัวนี้ให้ทหารทั้งฝ่ายอักษะ (Axis) และฝ่ายพันธมิตร (Allied) รวมทั้งกองทันนาซีของเยอรมัน แม้กระทั่งตัวฮิตเลอร์เองก็ได้รับการฉีดยาตัวนี้ เพื่อรักษาโรค Parkinson’s ในเวลาเดียวกันมีการจำหน่ายเป็นวิตามินรวม ภายใต้ชื่อการค้าว่า Pervitin แต่มีการถอดฉลากออกแล้วใช้รักษาผู้ป่วยที่ภาวะง่วงเกิน (Narcolepsy) จนเผลอหลับไปโดยไม่รู้ตัว และใช้เป็นยาต้านโรคซึมเศร้า (Depression) อีกด้วย

ในประเทศญี่ปุ่น ก็มีการใช้ยาตัวนี้ทั้งในหมู่ทหารและพลเรือน และมีการจำหน่ายโดยบริษัทยาชื่อ Dainippon ในช่วงทศวรรษที่ 1940 (พ.ศ. 2483) และ 1950 (พ.ศ. 2493) มีการใช้ยาตัวนี้ในอุตสหกรรมของญี่ปุ่นอย่างแพร่หลาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานในโรงงาน โดยยังไม่มีใครศึกษาวิจัยผลข้างเคียงอย่างจริงจัง

ในปัจจุบัน มีการค้นพบว่า เป็นยาเสพติดให้โทษที่ร้ายแรงและผิดกฎหมาย โดยผลกระทบทางร่างกาย ได้แก่ ภาวะเบื่ออาหาร จิตใจไม่สงบ ลุกลี้ลุกลน นอนไม่หลับ รูม่านตาห่าง สายตาพร่า หน้าแดง มีสิวฝ้า ผิวหนังแห้งและคัน ซีดเผือก ปากแห้ง ปวดศีรษะ เวียนหัว มีไข้สูง เหงื่อท่วม อุจจาระร่วง อาการท้องผูก ไร้ความรู้สึก (เย็นชา) ร่างกายสั่นระริก กล้ามเนื้อกระตุกและเนื้อหดเกร็งอย่างรุนแรง หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ (เร็วและช้ากว่าปรกติ) ความดันโลหิตสูงและต่ำกว่าปรกติ หรือเป็นโรคหัวใจล้ม โรคหลอดเลือสมอง และตาย [ในที่สุด]

ส่วนผลกระทบทางจิตวิทยา ได้แก่ ภาวะครึ้มใจและเคลิ้มสุข ความกังวล ความต้องการทางเพศสูง การเพิ่มขึ้นในการตื่นตัว สมาธิ และพลังงาน ความเชื่อมั่นในตนเอง การเข้าสังคมง่ายขึ้น ความหงุดหงิด ความก้าวร้าว ประสาทหลอน (Hallucination) ความผิดปรกติของกายเหตุจิต (Psychosomatic disorders) ความรู้สึกมีอำนาจล้นฟ้าจนหลงผิดคิดตนเขื่อง (Grandiosity) และพฤติกรรมยึดติดซ้ำซากจนเป็นโรคจิตหวาดระแวง (Paranoia)

กลุ่มอาการถอนพิษยาส่วนใหญ่ประกอบด้วยความเหนื่อยล้าและอาการซึมเศร้า แต่กินอาหารได้มากขึ้น และอาจรวมความกังวล หงุดหงิด ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย การหลับลึกและยาวนาน ความฝันที่สดใส และการสร้างจินตนาการฆ่าตัวตาย กลุ่มอาการนี้อาจคงค้างอยู่เป็นเวลาหลายวัน สำหรับผู้เสพติดเป็นครั้งคราว และหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน สำหรับผู้เสพจนเรื้อรัง กล่าวคือ ความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาและปริมาณที่เสพ

แหล่งข้อมูล:

  1. Methamphetamine. http://en.wikipedia.org/wiki/Methamphetamine [2012, January 2].