สารเรืองแสงที่คิดไม่ถึง

เหน็บชาเพราะปลาร้า

มีรายงานข่าวจากต่างประเทศแจ้งว่า นักท่องเที่ยวจีนกว้านซื้อผ้าอนามัยทั่วแดนอาทิตย์อุทัย ทำให้ร้านค้าหลายแห่งในประเทศญี่ปุ่นติดป้ายเป็นข้อความภาษาจีนว่า จำกัดการซื้อผ้าอนามัยคนละ 2 ชิ้นเท่านั้น หลังผ้าอนามัยที่ผลิตในประเทศจีนถูกตรวจพบว่ามีสารเรืองแสง ที่ทำให้สินค้าดูขาวสะอาด แต่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า สารเรืองแสงสามารถถูกดูดซึมผ่านรูขุมขนเข้าสู่กระแสเลือด โดยแตกต่างจากสารเคมีอื่น คือ ไม่อาจจะถูกขับออกจากร่างกายได้โดยง่าย แต่จะสะสมภายในร่างกายจนเกิดเป็นพิษ

สารเรืองแสงที่ใช้ฟอกขาวผ้าอนามัยจะส่งผลร้ายต่อตับและอวัยวะภายใน ทำให้เกิดอาการแพ้ อักเสบ แผลหายช้าและมีผลต่อระบบหมุนเวียนเลือด นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยพบว่า สารเรืองแสงอาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ในระยะยาว

ผ้าอนามัยที่ผลิตในประเทศจีนและหลายประเทศถูกตรวจพบว่ามีการใช้สารเรืองแสง หากแต่กรมควบคุมอาหารและยาของญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายห้ามใช้สารเรืองแสงหรือสารฟอกขาวกับผ้าอนามัยตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เนื่องจากแพทย์ระบุว่า ในช่วงที่มีประจำเดือน ส่วนบอบบางของผู้หญิงจะเปิดกว้าง ทำให้เสี่ยงต่อการที่สารเคมีในผ้าอนามัยจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จนอาจเกิดการติดเชื้อ ส่งผลต่อการตั้งครรภ์ หรือกระทั่งเสี่ยงเป็นมะเร็งได้

สารเรืองแสง / สารเพิ่มความขาว (Optical brighteners / Optical brightening agents = OBAs / Fluorescent brightening agents = FBAs / Fluorescent whitening agents = FWAs) เป็นสารเคมีที่สามารถดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet = UV) มักใช้ในกระบวนการฟอกขาวเพื่อความเหมาะสมในการใช้งาน เพราะในการผลิตเส้นใยธรรมชาติมักมีสีออกเหลืองติดมาตามธรรมชาติ ทำให้ไม่น่าดู บางครั้งจึงจำเป็นต้องฟอกขาวเส้นใย

โดยปกติมักมีการเติมสารฟอกขาวลงในการผลิตผงซักฟอก ผ้า กระดาษ กระดาษชำระ พลาสติก สีทาบ้าน สำลี เครื่องสำอาง แชมพู คอนดิชั่นเนอร์ ยาสีฟัน ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อช่วยทำให้ดูสะอาด สีสว่าง ขาวขึ้น ดังนั้น เราจึงอาจสัมผัสกับสารเรืองแสงได้เสมอทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น พบในอาหารโดยผ่านทางบรรจุภัณฑ์พลาสติกและกระดาษ เป็นต้น

สารเรืองแสงนี้มีคุณสมบัติ คือ ทำให้สุกสว่าง (Brilliant) เป็นสีน้ำเงินขาว (Bluish whitening effects) ทำให้มีความคงตัวของสี (Good light fastness) ทนต่อความร้อนได้ดีมาก และเพิ่มความใสของสีย้อม

สารนี้จะซึมซับแสงอัลตราไวโอเลตและเปล่งออกมาเป็นแสงสีฟ้า (Blue light) ทำให้วัสดุที่มีสีเหลืองดูสว่างและขาวขึ้น สารนี้จะไม่มีแสดงผลหากไม่ได้คงอยู่บนผิววัสดุ

ยกตัวอย่างเช่น การซักผ้าด้วยผงซักฟอกที่ใส่สารกับผงซักฟอกที่ไม่ได้ใส่สารจะให้ความสะอาดเท่ากัน แต่สิ่งที่ต่างกันคือ ความขาวหรือความสว่างของผ้าซึ่งสารนี้จะติดอยู่บนเนื้อผ้า ทำให้ผ้าดูขาวขึ้น นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมผ้าที่ซักด้วยผงซักฟอกที่ใส่สารจึงรู้สึกแข็งกว่าผ้าที่ซักด้วยผงซักฟอกที่ไม่ได้ใส่สาร ทั้งนี้เพราะมีสารนี้เคลือบอยู่นั่นเอง

ผลเสียของสารที่เกิดกับน้ำนั้นประมาณค่าไม่ได้เลย เนื่องจากสารนี้ไม่สามารถย่อยสลายได้ง่ายตามธรรมชาติ ตรงกันข้ามกลับเป็นการสะสมทางชีววิทยา (Bioaccumulative) โดยสารเคมีจะตกค้างยาวนาน สะสมได้ในสิ่งมีชีวิต และเป็นพิษ สามารถทำให้เกิดการระคายเคืองกับผิวคน เป็นพิษต่อสัตว์และพืช ฉะนั้นจึงควรระวังในการใช้และควรอ่านฉลากให้ละเอียดก่อนใช้

แหล่งข้อมูล

  1. เหมาทุกอย่าง! คนจีนกว้านซื้อ "ผ้าอนามัย" ในญี่ปุ่นจนเกลี้ยงร้าน http://manager.co.th/Japan/ViewNews.aspx?NewsID=9580000020502 [2015, March 15].
  2. Optical brightener. http://en.wikipedia.org/wiki/Optical_brightener [2015, March 15].
  3. Optical Brighteners: The Dangers of Bluing. http://www.motherearthliving.com/wiser-living/optical-brighteners-bluing.aspx [2015, March 15].