สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: ต้อกระจกในเด็ก (Childhood cataract)

สาระน่ารู้จากหมอตา

ต้อกระจก ส่วนมากพบในผู้สูงอายุจากความเสื่อมของแก้วตา มีส่วนน้อยที่พบในเด็กหรือเรียกกันว่า ‘ต้อกระจกแต่กำเนิด’ มีผู้ศึกษาพบว่า ต้อกระจกแต่กำเนิด เป็นเหตุถึง 10% ของเด็กที่มีสายตามัวกว่าปกติ อีกทั้งมีผู้คาดคะเนว่า 1 ใน 250 คนของเด็กแรกเกิดจะมีต้อกระจก คือมีความขุ่นของแก้วตา อาจเป็นเล็กน้อยไม่มีปัญหาทางสายตา หรือเป็นมากจนต้องรับการแก้ไข ต้อกระจกในเด็กมีสาเหตุได้มากมาย เช่น

เป็น 2 ตา อาจเกิดจาก

  1. ไม่ทราบสาเหตุ
  2. เป็นกรรมพันธุ์ในครอบครัว มีการถ่ายทอดได้หลายแบบ ที่พบบ่อยเป็นแบบปมเด่น (autosomal dominant)
  3. มีโรคทาง metabolic ซึ่งมักเป็นกรรมพันธุ์ด้วย เช่น โรค Down’s syndrome , Lowe syndrome , Marfan , Myotonic dystrophy , การทำงานน้อยลงของต่อม parathyroid เป็นต้น
  4. มีการติดเชื้อในมารดาระหว่างตั้งครรภ์ที่พบบ่อยในบ้านเรา คือ โรคหัดเยอรมันใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์, ติดเชื้อ CMV , Syphilis , Toxoplasmosis เป็นต้น
  5. มีความผิดปกติของส่วนอื่นของตาร่วมด้วย เช่น ร่วมกับภาวะไม่มีม่านตา (aniridia), มีความผิดปกติของการพัฒนาส่วนหน้าของดวงตาระหว่างอยู่ในครรภ์ (anterior segment dysgenesis), ได้รับรังสีรักษาระหว่างตั้งครรภ์ มารดาได้รับยา steroid เป็นต้น

สำหรับการเป็นข้างเดียวมักจะมีสาเหตุ

  1. ไม่ทราบสาเหตุ
  2. พบร่วมกับโรคตาที่มักเป็นในตาข้างเดียว เช่น ภาวะ posterior lenticonus, ภาวะ persistent hyperplastic primary vitreous (PHPV) , บางรายของ anterior segment dysgenesis
  3. แม่เป็นโรคหัดเยอรมัน (พบได้ทั้งเป็นตาเดียวหรือ 2 ตา)
  4. มีอุบัติเหตุ

ความสำคัญของโรค

  1. อายุที่พบต้อกระจกในเด็ก: ยิ่งอายุน้อยยิ่งมีปัญหาต่อสายตามาก ดังที่ทราบกันวการพัฒนาการของการมองเห็นหรือจอตาจะทำงานได้ไม่ดีเมื่อแรกเกิด ต้องมีแสงหรือภาพกระตุ้นทันทีแรกเกิด หากเป็นต้อกระจกในอายุที่น้อย จอตายังไม่เคยได้พัฒนาการเห็นเลย โอกาสจะเห็นได้ปกติแม้มาผ่าตัดต้อในภายหลังจึงมีน้อย หรือเรียกกันว่ามักมีภาวะตาขี้เกียจเกิดขึ้น ทำให้สายตาไม่ดีเท่าที่ควร อีกทั้งอายุยิ่งน้อย การผ่าตัดซึ่งต้องทำโดยวิธีดมยาสลบมีความเสี่ยงจากการดมยา การดูแลรักษาแผลหลังผ่าตัดทำได้ยาก มีภาวะต่อเนื่องจากการผ่าตัดมากกว่าผู้ใหญ่ ตลอดจนการแก้ไขสายตาหลังผ่าตัดมีข้อจำกัดกว่าผู้ใหญ่หรือเด็กโต
  2. บริเวณที่เป็น: การมีต้อกระจกหรือแก้วตาขุ่นหากเกิดที่ส่วนหลัง (posterior) ของแก้วตา หรือเป็นบริเวณกึ่งกลางแก้วตา จะบดบังการมองเห็นมากกว่าเกิดเป็นบริเวณขอบๆ ทำให้ควรได้รับการผ่าตัดเร็วกว่า
  3. เด็กทุกรายที่เป็นต้อกระจก ควรรับการตรวจจอตา ประสาทตาอย่างละเอียด เพื่อประเมินการมองเห็น ตลอดจนตรวจหาโรคอื่นที่อาจซ่อนอยู่ เช่น ภาวะ PHPV ตลอดจนเนื้อร้ายของจอตา (retinoblastoma) หากมีข้อจำกัดในการตรวจอาจต้องใช้ Ultrasound ในการตรวจส่วนหลังของลูกตา

การรักษา

  1. ในรายที่คาดว่าต้อกระจกยังเป็นไม่มาก ยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัด อาจให้รักษาโดยใช้ยาขยายม่านตาที่มีฤทธิ์อยู่ไม่นานนัก ร่วมกับปิดตาดีเป็นครั้งคราว เพื่อให้ตาข้างเป็นโรคมองเห็นและใช้สายตามากขึ้น และควรตรวจตาเป็นระยะๆ หากพบว่าสายตามีแนวโน้มลดลง พิจารณารับการผ่าตัด
  2. การผ่าตัด โดยทั่วไป สมควรทำผ่าตัดในต้อกระจกที่มีสายตามัวลงมาก ได้แก่

    2.1 มีความขุ่นของแก้วตาบริเวณตรงกลาง ขนาดตั้งแต่ 3 มม. ขึ้นไป

    2.2 สายตาตั้งแต่ 20/70 ลงไป

อย่างไรก็ตาม ในเด็กเล็ก อาจวัดสายตาได้ยาก คงต้องอาศัย ข้อ 2.1 เป็นหลัก

เช่นเดียวกับต้อกระจกในผู้ใหญ่ เมื่อแก้วตาขุ่นบดบังการมองเห็น การผ่าตัดจึงทำโดยเอาแก้วตาที่ขุ่นออก เมื่อเอาแก้วตาออก ตาคนนั้นขาดแก้วตาที่ทำหน้าที่รวมแสงให้เกิดภาพ จึงต้องแก้ไขด้วยใส่ แว่นตา คอนแทคเลนส์ หรือแก้วตาเทียม แต่การผ่าตัดต้อกระจกในเด็กยุ่งยากกว่าผู้ใหญ่หลายประการ อาทิ เช่น

  1. ต้องผ่าตัดโดยวิธีดมยาสลบ เพราะเด็กไม่ให้ความร่วมมือ จึงมีความเสี่ยงในการดมยาสลบด้วย
  2. การดูแล ตรวจรักษาหลังผ่าตัดค่อนข้างยุ่งยาก เนื่องจากเด็กมักไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจ การหยอดยารักษาแผลยุ่งยากมาก
  3. ด้วยลักษณะกายวิภาคของตาเด็ก ที่มีขนาดเล็ก ถุงหุ้มแก้วตาเหนียว การฉีกถุงหุ้มแก้วตาทำได้ยากกว่าผู้ใหญ่ ผนังลูกตาอ่อนยวบ (sclerol rigidity ต่ำ) ทำให้ดวงตาอ่อนยวบเวลาผ่าตัดยุ่งยากแก่การสอดเครื่องมือ การผ่าตัดทำยากกว่า
  4. หลังผ่าตัด มีโอกาสเกิดพังผืด เกิดภาวะขุ่นของถุงหุ้มแก้วตาที่เหลือ(posterior capsule opacity)ได้มากกว่า และเป็นรวดเร็วกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ต้องไปผ่าตัดซ้ำในเด็กที่ไม่ให้ความร่วมมือในการทำด้วยแสงเลเซอร์ (Yag capsulotomy) ซึ่งทำได้ง่ายมากในผู้ใหญ่ที่ให้ความร่วมมือ
  5. อุบัติการณ์ของต้อหินหลังผ่าตัดต้อกระจกมีมากกว่าในผู้ใหญ่ อีกทั้งการวินิจฉัยค่อนข้างยาก เพราะเด็กไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจวัดความดันตา
  6. ที่สำคัญอีกข้อก็คือ การแก้ไขสายตาผิดปกติหลังผ่าตัดที่อาจทำได้ด้วยแว่นตา คอนแทคเลนส์ หรือฝังแก้วตาเทียม ในปัจจุบันสำหรับผู้ใหญ่ การฝังแก้วตาเทียมเป็นวิธีที่ใช้มากที่สุด สะดวกที่สุด แต่ในเด็กมีความยุ่งยากในการคำนวณกำลังแก้วตาเทียมที่เหมาะสม เพราะเด็กยังมีการโตขึ้นของลูกตา สายตาที่ยังเปลี่ยนแปลง การใส่แก้วตาเทียมที่เหมาะในขณะผ่าตัด อาจไม่เหมาะเมื่อเด็กอายุมากขึ้น จึงต้องตัดสินใจในการเลือกกำลังแก้วตาเทียมที่เหมาะสม อีกทั้งการวัดหรือตรวจเพื่อหาค่ากำลังแก้วตาเทียมก็ทำได้ยาก
  7. เด็กที่มีต้อกระจกมักมีปัญหาของภาวะตาขี้เกียจ ซึ่งต้องรับการตรวจและรักษาควบคู่กันไป ซึ่งการรักษาต้องใช้เวลาและได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองเป็นอย่างดีด้วย