สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: งูสวัดขึ้นตา(Herpes zoster ophthalmicus)

สาระน่ารู้จากหมอตา

โรคงูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัส Herpes zoster ซึ่งเป็นตัวเดียวกับโรคอีสุกอีใสในเด็ก กล่าวคือ เมื่อวัยเด็กเป็นอีสุกอีใส เมื่อหายจากโรคแล้วไวรัสตัวนี้จะแฝงอยู่ในร่างกายเราในปมประสาทนานหลายปี อาจก่อโรคในภายหลัง สำหรับงูสวัดที่แฝงอยู่ในปมประสาทสมองคู่ที่ 5 (Trigeminal nerve) โดยเฉพาะกิ่งที่มาเลี้ยงบริเวณหน้าผาก เปลือกตาบน เยื่อบุตาส่วนบน เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด (แขนง frontal nerve) ยังมีแขนง nosociliary ที่ไปเลี้ยงถุงน้ำตา ผิวหนังเปลือกตาบน-ล่าง ดั้งจมูก แล้วยังมีแขนงอัตโนมัติมาเลี้ยงตาขาว กระจกตา ม่านตา และ choroid การลุกลามของเชื้อมาตามเส้นประสาทแขนงใดจึงก่อให้เกิดพยาธิสภาพส่วนต่างๆ ที่แตกต่างกัน

อาการของงูสวัดที่ตา อาจเริ่มด้วย มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัวนำมาก่อน ต่อมาคือ ปวดเจ็บบริเวณผิวหนัง ตามเส้นประสาทที่มาเลี้ยง ภายใน 2 – 3 วัน ผิวหนังบริเวณหน้าผาก หนังตาบน บวมแดงร้อน ไวต่อความรู้สึก ตามด้วยตุ่มใสๆ เล็กๆ เป็นกลุ่มๆ อยู่ 3-5 วัน ภายในตุ่มอาจจะขุ่น ในเวลาต่อมาและมีเลือดออกได้ หลังจากนั้นตุ่มจะแตกเป็นสะเก็ดในราวๆ วันที่ 10 (ตุ่มจากโรคงูสวัดต่างจากเชื้อเริมตรงที่มักจะลงลึกทำให้เมื่อหายแล้ว จะเป็นแผลเป็นมากกว่า) ช่วงที่ยังอักเสบยังเป็นช่วงที่ติดต่อผู้อื่นได้ ต้องรอจนกว่าสะเก็ดแห้งหลุดไป

เมื่อโรคหาย ระยะแรกผิวอาจมีสีแดง ต่อมาจะซีดขาว ผิวบริเวณนั้นอาจจะชา หรือไวต่อความรู้สึก เมื่อสัมผัสอาจจะมีอาการเสียว หากมีตุ่มมากบริเวณเปลือกตา อาจทำให้ขอบตาม้วนเข้าใน หรือแบะออก ขนตาเก บางรายมีหนังตาตกได้

อาการของงูสวัดเข้าเยื่อบุตา ตาขาว (sclera) กรณีที่มีเยื่อบุตาอักเสบ จะพบเยื่อบุตาแดง มีตุ่มแบน follicle อาจมีจุดเลือดออกร่วมด้วย อาการมักจะไม่รุนแรง สำหรับกรณีโรคเข้าตาขาว (ทั้ง episclera และ sclera) อาจพบตาขาวนูนเป็นช่วงๆ มักเป็นบริเวณตาขาวที่ใกล้ๆ กระจกตา อาจเป็นจุดๆ หรือรอบตาดำก็ได้

อาการของงูสวัดที่กระจกตา การอักเสบที่เกิดขึ้น อาจเป็นทั้งชนิดติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ (จากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกัน)

ลักษณะการอักเสบ ที่พบอาจเป็น

  1. เมื่อเป็นโรคที่ผิวกระจกตา (ชั้น epithelium) จะเป็นจุดเล็กๆ เป็นหย่อมๆ บางคนอาจจะแผ่เป็นรูปกิ่งคล้าย dendritic keratitis ที่พบในเชื้อเริม เรียกกันว่า pseudodendrite
  2. เป็นโรคที่ชั้น stroma ซึ่งอาจพบร่วมกันหรือไม่ก็ได้ (interstitial keratitis) มักพบม่านตาอักเสบ และความดันตาสูงร่วมด้วย
  3. การอักเสบรูป disc ตั้งแต่ชั้น epithelium ลึกลงไปถึงขั้ว stroma (disciform keratitis) มักไม่พบเชื้อวรัส เชื่อว่าเป็นผลจากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันมากกว่า
  4. แบบ peripheral ulcerative keratitis เป็นแผลอักเสบบริเวณรอบๆ กระจกตา มักจะมีกระจกตาชา อาจมีม่านตาอักเสบร่วมด้วย
  5. กระจกตาอักเสบแบบชา (neurotrophic keratitis) ผิวกระจกตาไม่เรียบ เป็นจุดสีเทาๆ กระจาย กระจกตาไม่รู้สึก มักพบในรายที่ปมประสาทอักเสบถูกทำลาย ความรู้สึกชาอาจค่อยๆ หายไป แต่บางคนอาจชาจนถาวรไปก็ได้ ผลจากกระจกตาชาไม่รู้สึก อาจนำมาซึ่งแผลอักเสบที่เรียก exposure keratitis มีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม ทำให้กระจกตาอักเสบรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีภาวะต่อมไขมันเปลือกตาทำงานผิดปกติ (meibomian gland dysfunction) ร่วมด้วย ภาวะนี้ค่อนข้างยากในการรักษา กระจกตาอาจเปื่อยบางลงๆ ได้

อาการงูสวัดที่ม่านตา จะพบการอักเสบของม่านตา นำมาซึ่งม่านตาฝ่อเป็นส่วน (Sectoral iris atrophy) กล้ามเนื้อ sphinctor ถูกทำลาย เป็นรอยโรคที่ทำให้ตรวจพบได้ในเวลาต่อมา ส่วนใหญ่เป็นปฏิกิริยาจากภูมิคุ้มกัน ทั้งการอักเสบที่กระจกตาและที่ม่านตา มักจะก่อให้ความดันตาสูงขึ้นด้วยได้

กล้ามเนื้อกลอกตา อาจเป็นอัมพาต เป็นผลจากมีอัมพาตของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 3, 4, 6 ที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อกลอกตา จึงทำให้เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทสมองนั้นๆ

การอักเสบของส่วนหลังลูกตาจากงูสวัดที่พบได้ ได้แก่ ภาวะคอร์รอยด์อักเสบ หลอดเลือดจอตาอักเสบ (retinal vasculitis) ตลอดจนภาวะจอตาตายเฉียบพลัน (acute retinal necrosis , ARN)

นอกจากนี้ยังอาจพบไวรัสงูสวัดเข้าสู่เบ้าตา ทำให้หนังตาตก ตาโปน ตลอดจนเกิดภาวะประสาทตาอักเสบ (papillitis or optic neuritis) เป็นต้น

โรคงูสวัดในผู้ป่วยเอดส์และผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคเอดส์ โดยทั่วไปโรคงูสวัดขึ้นตามักพบในผู้สูงอายุ ปัจจุบันพบในคนอายุน้อยลง โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ดังนั้นผู้มีงูสวัดขึ้นตาที่อายุน้อยกว่า 45 ปี ลงมา ควรจะต้องตรวจหาภาวะโรคเอดส์ไว้ด้วยเสมอ ในบางคนอาจเป็นงูสวัดก่อนเกิดอาการอื่นๆ ของโรคเอดส์ได้

การรักษางูสวัดขึ้นตา

การรักษาโดย

  1. ใช้ยาต้านไวรัส ซึ่งควรสั่งโดยแพทย์เท่านั้น
  2. ผิวหนังที่อักเสบ หมั่นเช็ดทำความสะอาด ประคบน้ำอุ่น
  3. ในรายที่คาดว่าการอักเสบเป็นจากภูมิคุ้มกัน อาจใช้ยาหยอดตาในรูป steroid (ควรสั่งโดยแพทย์)
  4. อาจใช้ยาฆ่าเชื้อ bacteria เพื่อป้องกันเชื้อ bacteria ผสมด้วย
  5. ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการ เสียว เจ็บปวด ควรให้ยาตามอาการ
  6. การทำให้ร่างกายแข็งแรง ภูมิต้านทานจะดีขึ้น โรคจะหายได้เร็วขึ้น