สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: หนังตาตก (Congenital ptosis)

สาระน่ารู้จากหมอตา

เด็กที่เกิดมาพร้อมกับความผิกปกติของกล้ามเนื้อยกหนังตา(levator)ทำให้หนังตาบนตกลงมาคลุมตาดำมากกว่าปกติ (ในคนปกติทั่วไป เมื่อมองตรงไปข้างหน้าขอบหนังตาบนจะปิดตาดำประมาณ 1 ม.ม. วัดจากขอบตาดำบน) ทำให้แม่มักจะมาบอกว่าลูกมีตาเล็ก ที่จริงลูกตาขนาดปกติแต่หนังตาลงมาปิดมากกว่าปกติ ทำให้ช่องที่เกิดระหว่างหนังตาบนและล่างแคบกว่าคนทั่วไป ลักษณะที่บางคนอาจเรียกกว่าตาตี่นั่นเอง

ภาวะหนังตาตกแต่กำเหนิดมีได้หลายแบบ เช่น

  1. ภาวะหนังตาตกธรรมดา หรือทั่ว ๆ ไป (simple congenital ptosis) เป็นหนังตาตกในเด็กที่พบบ่อยที่สุด
  2. มีทั้งหนังตาตกร่วมกับลูกตาเขในแนวตั้ง (vertical strabismus) คือดวงตา 2 ข้างอยู่บน – ล่าง ไม่อยู่แนวเดียวกัน อาจจะข้างหนึ่งอยู่สูง หรือต่ำกว่าอีกข้าง เรียกกันว่า double elevator palsy
  3. เด็กบางคนเกิดมาช่องระหว่างหนังตาบนและล่างทั้งในแนวนอนและตั้งเล็ก หรือสั้นกว่าปกติ มักจะมีหางตาชี้ขึ้น ดั้งจมูกแบน เนื้อบริเวณหัวตามาก รูปหน้าผิดปกติ เรียกกันว่า blepharophimosis syndrome เป็นภาวะที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ การรักษามักจะต้องผ่าตัดทั้งกล้ามเนื้อยกตาและผิวหนังบริเวณดั้งจมูกร่วมด้วย
  4. นอกจากหนังตาตกแล้ว กล้ามเนื้อกลอกตา (EOM) ทำงานบกพร่อง ทำให้กลอกตาไปมาไม่ได้ร่วมด้วย เรียกกันว่า orbital fibrosis syndrome ซึ่งมักจะถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ค่อนข้างยากในการรักษา การผ่าตัดเพื่อให้ตาลืมได้ และดูแลตาตรง แต่ไม่ได้ช่วยในแง่การเคลื่อนไหวของดวงตา
  5. พบหนังตาตกร่วมกับอาการทางระบบประสาทต่าง ๆ เช่น Horner syndrome นอกจากหนังตาตก รูม่านตาขนาดเล็กและหน้าด้านนั้นไม่มีเหงื่อ เชื่อว่าเกิดจากประสาท sympathetic ถูกตัดขาดระหว่างการคลอด หรือมีหนังตาตกร่วมกับอัมพาตเส้นประสาทสมองเส้นที่ 3 (CN III palsy) อาจเกิดอุบัติเหตุระหว่างคลอดหรือเป็นตั้งแต่ในท้อง และที่พอพบได้บ้าง คือภาวะ congenital myasthenia gravis ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเกิดจาก genetic neuromuscular transmission ถ้าเป็นตอนโตขึ้น เป็น autoimmune มากกว่า ตลอดจนภาวะที่เรียกว่า marcus gunn jaw – winking มีหนังตาขยับเมื่อขยับปาก เป็นความผิดปกติที่เกิดการเชื่อมต่อของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 5 กับเส้นที่ 3 ทำให้เวลาเคี้ยวหรือขยับปากจะกระตุ้นเส้นประสาทที่ 3 ให้ยกหนังตาขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่พบส่วนใหญ่เป็นหนังตาตกทั่ว ๆ ไปอย่างเดียว (แบบที่ 1) ซึ่งอาจเป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง โดยพบหนังตาตกบนปิดตาดำมากกว่าปกติ ตาข้างที่ตกอาจเห็นรอยที่เป็นตา 2 ชั้นตื้น ๆ หรือไม่มีรอยพับ (เป็นตาชั้นเดียว) มีข้อน่าสังเกตุที่ต่างจากหนังตาตกชนิดที่ไม่ได้เป็นแต่กำเหนิด คือ ช่องระหว่างหนังตาบน – ล่าง จะกว้างขึ้นเมื่อเทียบกับหนังตาตกที่ไม่ใช่เป็นแต่กำเหนิด จะแคบลงเมื่อเหลือบตาลงต่ำ และโดยทั่วไปหมอจะตรวจภาวะต่าง ๆ เช่น

  1. สายตามีความผิดปกติ มีสายตาสั้น ยาว เอียง ร่วมด้วยหรือไม่ ถ้ามีควรจะแก้ไขก่อน
  2. มีหรือเสี่ยงต่อภาวะตาขี้เกียจหรือไม่ การทดสอบระดับสายตา ดูว่าหนังตาที่ตกปิดรูม่านตาหรือไม่ ถ้าปิดรูม่านตาทำให้ตาข้างนั้นมองไม่เห็นนานเข้าเกิดภาวะตาขี้เกียจได้ เป็น 2 ตา หรือตาเดียว ในกรณีเป็นตาข้างเดียว เด็กใช้ตาดีมอง ตาข้างเป็นไม่ใช้งาน หรือเป็นทั้ง 2 ตา แต่ข้างหนึ่งตกมากกว่า ข้างที่ตกมากกว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นตาขี้เกียจได้ เด็กที่มีหนังตาตกมักจะพยายามแหงนหน้า หรือเลิกคิ้วทำหน้าผากย่นตลอดเวลา
  3. มีภาวะตาเขร่วมด้วยหรือไม่ บางครั้งหนังตาตกทำให้ไม่เห็นว่าตาข้างนั้นเขด้วย หากมีตาเขต้องแก้ไขตาเขก่อนด้วย
  4. ตรวจวัดความสามารถหรือกำลังของกล้ามเนื้อยกตา (levater function) เพื่อพิจารณาวิธีผ่าตัดที่เหมาะสมต่อไป
  5. ตรวจร่างกายทั่วไปว่าแข็งแรงพร้อมที่จะรับการผ่าตัดด้วยวิธีดมยาสลบ

โดยทั่วไปหากมีแนวโน้มจะเกิดภาวะตาขี้เกียจ หรือถ้าแลดูไม่สวยงามเป็นด้อยของเด็ก แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดแก้ไขในเวลาที่เหมาะสม