สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: ตามัว (Blurred vision)

สาระน่ารู้จากหมอตา

ตามัว สายตาหรือการมองเห็นลดลง ตลอดจนมองไม่ชัด เป็นอาการที่สำคัญอันหนึ่งทางจักษุวิทยา มีทั้งที่เป็นโรคตา โรคของสมอง และบางอย่างไม่ใช่โรค โดยมีสาเหตุหลักอยู่ 4 ประการ

  1. สายตาผิดปกติ (refractive error) ส่วนมากไม่ถือว่าเป็นโรคแต่เกิดจากกำลังหักเหของแสงจากกระจกตาและแก้วตาไม่สมดุลกับความยาว (axial length) ของลูกตา ก่อให้เกิดภาวะสายตาสั้น (myopia) ยาว (hyperopia) เอียง (astigmatism) รวมไปถึงภาวะสายตาผู้สูงอายุ (presbyopia) ซึ่งแก้ไขชั่วคราวได้โดยการใช้แว่นตา คอนแทคเลนส์ ตลอดจนแก้ไขแบบถาวรด้วยการผ่าตัด (refractive surgery) รวมทั้งการทำเลสิค (Lasik)
  2. มัชฌิมของตาผิดปกติ (abnormal ocular media) มัชฌิมได้แก่ตัวกลางที่แสงผ่านเข้าสู่ลูกตาภายในไปสุดที่จอตา กล่าวคือ คนเราจะมองเห็นวัตถุได้ต่อเมื่อแสงจากวัตถุผ่านเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของลูกตา อันได้แก่ ตาดำ ช่องหน้าตา แก้วตา ช่องน้ำวุ้นตา สู่จอตา ส่วนต่างๆ ที่แสงผ่านนี้ถือเป็นมัชฌิมหรือตัวกลางให้แสงผ่าน จะต้องใสปกติ แสงถึงจะเข้าสู่จอตาได้อย่างสมบูรณ์ ภาวะผิดปกติของส่วนต่างๆ ที่แสงผ่านหรือพูดง่ายๆ เป็นฝ้าขาว บังแสงไม่ให้ผ่านหรือกระจายแสงไปทิศทางต่างๆ นำไปสู่ภาวะตามัวอาจแบ่งเป็น
    1. เกิดตามัวฉับพลันหรือค่อนข้างเร็ว ได้แก่ ความผิดปกติที่เกิดที่ตาดำ ช่องหน้าตา น้ำวุ้นตา เช่น แผลอักเสบกระจกตา (corneal ulcer) กระจกตาฉีกขาดจากอุบัติเหตุ กระจกตาบวมจากต้อหินเฉียบพลัน การอักเสบของยูเวียร์ เลือดออกในช่องหน้าตา (hyphema) เลือดในน้ำวุ้นตาจากโรคต่างๆ เช่น จอตาส่วนกลางเสื่อม (age related macular degeneration) จอตาเสื่อมจากเบาหวาน เป็นต้น รวมทั้งการอักเสบภายในดวงตา (endophthalmitis) มีหนองอยู่ในน้ำวุ้นตา ภาวะดังกล่าวเป็นความผิดปกติของมัชฌิมที่แสงผ่าน ทำให้แสงผ่านไม่สะดวกจึงเกิดอาการมัว
    2. ตามัวลงอย่างช้าๆ ที่พบบ่อย ได้แก่ ภาวะต้อกระจกที่เป็นความขุ่นของแก้วตาที่ค่อยเป็นค่อยไป ตาจึงค่อยๆ มัวลงอย่างช้าๆ ตามความขุ่นที่เกิดขึ้น ตลอดจนโรคของกระจกตาที่ทำงานผิดปกติชนิดที่ค่อยๆ เสื่อมไป (corneal decompensate) จากโรคของเซลล์ชั้นในกระจกตา (endothelium dystrophy) รวมทั้งกระจกตาค่อยๆ เป็นฝ้าขาวจากโรคริดสีดวงตาเรื้อรัง ขนตาเขี่ยตาดำจนเป็นฝ้าขาวที่ตาดำอย่างช้าๆ แผลอักเสบติดเชื้อกระจกตาที่รักษาหายอักเสบแล้ว มักจะทิ้งร่องรอยแผลเป็นไว้ เป็นต้น
  3. ส่วนรับภาพผิดปกติ หรือระบบประสาทรับรู้การเห็น (visual pathway) ผิดปกติ เริ่มตั้งแต่จอตา (retina) ขั้วประสาทตา (optic disc) เส้นประสาทตา (อยู่หลังลูกตา) วิ่งไปตามเนื้อสมองถึงบริเวณท้ายทอยไปยังศูนย์รวมของการมองเห็น (visual cortex) ที่อยู่บริเวณ occipital cortex หากเกิดพยาธิสภาพบริเวณใดจะทำให้ตาพร่ามัวหรือลานสายตาหายไปเป็นหย่อมๆได้ ได้แก่
    1. ความผิดปกติของจอตา ได้แก่ โรคของจอตาบางโรค ทำให้ตามัวลงมากอย่างรวดเร็ว พยาธิสภาพที่จอตา หมอตาสามารถตรวจด้วยเครื่อง ophthalmoscope และตรวจได้ดีถ้าม่านตาขยาย เช่น จอตาหลุดลอก หลอดเลือดจอตาอุดตัน เป็นต้น หรือบางโรคมีการทำลายใยประสาทตา (nerve fibre) ในจอตาอย่างช้าๆ ทำให้ตามัวลงอย่างช้าๆ เช่น โรคต้อหินเรื้อรัง (primary open angle glaucoma) ภาวะเบาหวาน ทำลายจอตาในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานนานๆ หรือควบคุมเบาหวานไม่ได้ ทำให้จอตาขาดเลือดและตายไปเป็นหย่อมๆ โดยเฉพาะบริเวณ macula ทำให้ตามัวลงได้มาก รวมทั้งโรคจอตาเสื่อมที่ไม่ทราบสาเหตุ เช่น retinitis pigmentosa , จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (AMD) เป็นต้น
    2. โรคของขั้วประสาทตาและประสาทตา โรคของขั้วประสาทตา จักษุแพทย์ตรวจได้โดยดูผ่านรูม่านตา ส่วนเส้นประสาทตาอยู่หลังลูกตาต้องอาศัยการตรวจด้วยวิธีอื่น ตัวอย่างของโรคในกลุ่มนี้ เช่น โรค optic neuritis หรือ retrobulbar optic neuritis ที่มีทั้งไม่รู้สาเหตุและที่พบรวมกับ multiple sclerosis โรคประสาทตาเสื่อมจากยาที่รักษาวัณโรคปอด (ethambutal) ตลอดจนโรคทางสมองที่มีผลต่อเส้นประสาทตา เช่น ภาวะ migraine (อาจจะมัวชั่วคราว) เนื้องอกในสมองที่กดเส้นประสาทตา เนื้องอกต่อม pituitary กดประสาทตา หลอดเลือดสมองอุดตัน เป็นต้น แม้ดวงตาปกติดีทุกอย่าง หากเส้นประสาทตาในเนื้อสมองมีพยาธิสภาพตาก็มองไม่เห็น ดังนั้นตามัวเล็กน้อยหรือมากจนตาบอดอาจเกิดจากได้ทั้งโรคตาและความผิดปกติของสมอง โรคของเส้นประสาทตาที่อยู่หลังลูกตาไปในเนื้อสมองจึงต้องรับการตรวจพิเศษเพื่อการวินิจฉัย โดยความร่วมมือกับแพทย์ชำนาญระบบสมอง
  4. แกล้งมัว (malingering) การมองเห็นเป็นเรื่องของอวัยวะสัมผัสเป็นความรู้สึก การตรวจต้องอาศัยจากการทดสอบจากแผ่นภาพที่เป็นมาตรฐานที่มีขนาดภาพต่างๆ กัน ผู้ถูกทดสอบจะเป็นคนบอกว่าเห็นหรือไม่ เรียกว่าเป็น subjective test ขึ้นอยู่กับผู้ถูกวัด อาจไม่ตอบตามจริงในบางราย เป็นการแกล้งเพื่อเรียกร้องสิทธิ์หรือค่าชดเชย หรือเรียกร้องความสนใจและอื่นๆ เรียกว่า ผู้ป่วยแกล้งเป็นมองไม่เห็น จำเป็นต้องมีการตรวจเพื่อจับกลโกงของผู้ป่วย