สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: ตัวจี๊ดขึ้นตา

สาระน่ารู้จากหมอตา

ตัวจี๊ด(Gnathostoma) เป็นพยาธิตัวกลมที่ก่อให้เกิดโรคในสัตว์มีกระดูกสันหลัง (vertebrate) วงจรชีวิตของมันค้นพบโดย ศ.นพ.สวัสดิ์ แดงสว่าง และ ศ.นพ.เฉลิม พรมมาศ พบว่าที่อยู่ที่แท้จริงของมัน (definite host) ที่มันอาศัยเจริญและแพร่พันธุ์ได้ คือ แมว สุนัข สิงโต เสือ เป็ด ไก่ กบ งู ปลาน้ำจืด นก ฯลฯ กล่าวคือ เมื่อมันอยู่ในกระเพาะของสัตว์เหล่านี้ มันจะวางไข่ที่ออกมากับอุจจาระลงไปในน้ำ เจริญเป็นตัวอ่อนระดับที่ 1 (1st stage larva) จะถูกกินโดย intermediate host อันแรกได้แก่ กุ้งไร (cyclop) และเจริญเป็นตัวอ่อนระดับ 2 เข้าสู่ intermediate host อันดับ 2 เจริญเป็นตัวอ่อนระดับที่ 3 ซึ่งเป็นระยะที่ก่อให้เกิดโรคได้ หากพลัดเข้าไปในกระเพาะสัตว์ vertebrate ต่าง ๆ จากตัวอ่อนระดับที่ 3 จะเข้าสู่ที่อยู่ที่แท้จริง (definite host) ในสัตว์ต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้น เจริญเป็นตัวแก่และวางไข่ต่อไป คนเราไม่ใช่ที่อยู่ของมัน แต่เมื่อมีตัวอ่อนระดับ 3 เข้าไปในคน จะก่อให้เกิดโรคขึ้น

กล่าวกันว่า Richard Owen เป็นคนพบพยาธิตัวนี้ในกระเพาะเสือที่ตายจากหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด ในสวนสัตว์กรุงลอนดอน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1836 จากนั้นอีกหลายปีต่อมา(ปี1889) จึงมีรายงานพบพยาธิตัวนี้ในเต้านมของหญิงไทย คงเป็นเพราะคนไม่ใช่ definite host ของมัน

ตัวจี๊ด ขนาดของตัวแก่ยาวประมาณ 1.5 – 5 ซ.ม. กว้าง 1-2 ม.ม. มีลักษณะเป็นท่อ ประกอบด้วยส่วนหัวกับตัวแยกกันชัดเจน ตัวผู้เล็กกว่าตัวเมีย หัวมีรูปกลม มีริมฝีปาก 1 คู่ ส่วนหัวมีคล้าย ๆ ขอ เล็ก ๆ รอบหัว 8 แถว ลำตัวปกคลุมด้วยหนาม

ตัวอ่อนระดับที่ 1 (L1) มีขนาด 15.8 – 26.5 ไมครอน ที่หัวมีหนามสั้น ๆ แถวเดียว

ตัวอ่อนระดับที่ 2 (L2) ขนาดโตขึ้น ไม่มีปลอกหุ้ม ที่หัวมีหนาม 4 แถว

ตัวอ่อนระดับที่ 3 เป็นระยะติดต่อ ลักษณะคล้ายตัวแก่ แต่ขนาดเล็กกว่า คือมีขนาด 4.5 – 6.3 ม.ม. หนามไม่ชัดเจนเท่าตัวแก่ มักขดตัวเป็น cyst การขดเป็น cyst ทำให้มันอยู่ได้หลายปี (มีรายงานว่ามากกว่า 4 ปี) ตัวจี๊ดเข้าสู่ร่ายกายคนเราจากการรับประทานอาหารไม่สุก หรือสุก ๆ ดิบ ๆ ในเนื้อสัตว์ประเภทปลาน้ำจืด, กุ้ง, เป็ด, ไก่ ที่มีตัวอ่อนระดับที่ 3 เข้าไป เนื่องจากคนไม่ใช่ที่อยู่ของมัน จึงไม่อาจโตเต็มที่โดยสมบูรณ์ เมื่อคนกินเข้าไปจะมีอาการปวดท้อง ไข้ อาเจียน เบื่ออาหาร ตัวอ่อนนี้จะไชผ่านผนังลำไส้เข้าสู่ข่องท้อง และเคลื่อนไปข้างหน้า (ไปข้างหน้าอย่างเดียว ไม่ถอยหลัง) ไปตามอวัยวะต่าง ๆ ถ้าไชมาที่ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นบวมแดง เป็นก้อนขนาดต่าง ๆ ทำให้มีอาการคัน เจ็บจี๊ด ๆ อันเป็นที่มาของชื่อ พยาธิตัวจี๊ด ตัวอ่อนนี้จะไชไปที่ต่าง ๆ เรียกกันว่า larva migrans มันอาจไชไปตามที่ต่าง ๆ ก่อให้เกิดอาการไอ ถ้าไชเข้าทางเดินหายใจ และปัสสาวะเป็นเลือด หากไชเข้าระบบปัสสาวะ หรือเข้าสมองทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองหรือเนื้อสมองอักเสบ (Eosinophilic meningitis)

สำหรับทางตาที่พบบ่อย ๆ มาอยู่ที่ผิวหนังบริเวณเบ้าตา ทำให้ตาบวมจนตาปิด โดยมักมีอาการบวมใกล้ ๆ รอบ ๆ ดวงตามาก่อน แล้วค่อย ๆ คืบเข้ามาหนังตา เป็น migratory swelling เยื่อบุตาแดงบวม (chemosis) แต่การอักเสบไม่มากเท่าภาวะเบ้าตาอักเสบ (orbital cellulitis) มีอาการคันแต่ไม่เจ็บมาก นอกจานี้อาจไชเข้าไปภายในช่องหน้าตา (anterior chamber) เข้าไปส่วนของลูกตา ทำให้มีเลือดออกภายในตา น้ำวุ้นขุ่น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการตามัวลงอย่างฉับพลัน เนื่องจากการเคลื่อนไหวของมัน จึงก่อให้เกิดภยันตรายทำลายเนื้อเยื่อที่มันคืบผ่าน หากถูกที่สำคัญทำให้ตาบอดได้

กล่าวกันว่าสัตว์ที่เป็น intermediate host ที่มีตัวอ่อนระดับ 3 อยู่มีด้วยกันถึง 44 ชนิด เช่น ปลาน้ำจีด 16 ชนิด ได้แก่ ปลาดุก ปลาช่อน ปลาไหล (พบว่ามีพยาธิตัวนี้มากที่สุด) เป็นต้น, สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ได้แก่ กบ, สัตว์เลื้อยคลาน เช่น งู ตะกวด, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น กระแต หนู ฯลฯ

การวินิจฉัยโรค

จากประวัติชอบกินของดิบ อาการของ migratory swelling ตรวจเลือดพบ Eosinophil สูง ตรวจเลือดด้วย ELISA. และจากการเห็น track ของพยาธิ

การ X-Ray Computer หรือ MRI ของสมอง อาจพบก้อน หรือทางเดินขพยาธิ

การรักษา

โดยทั่วไป ไม่มียาฆ่าพยาธิตัวนี้ได้โดยเฉพาะ การรักษาที่ดีคือ ผ่าตัดเอาตัวพยาธิออกแล้วมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อการวินิจฉัยและรักษาไปในตัว แต่จะทำได้เมื่อมันไชมาอยู่ใต้ผิวหนัง หรือในตาที่พอจะเอาออกโดยวิธีผ่าตัดได้

ยาถ่ายพยาธิบางตัวพบว่าพอได้ผล ทำให้พยาธิสงบลง แต่มีหลายรายที่อาการสงบชั่วคราว แล้วเกิดอาการใหม่ นอกจากนี้ รักษาตามอาการ เช่น ให้ยายุบบวม ยาแก้แพ้ แก้ปวด

การป้องกัน

  1. สุขศึกษาแก่ประชาชน ให้รับประทานเฉพาะของสุกเท่านั้น
  2. กำจัดเศษเนื้อสัตว์ ปลาดิบ โดยการฝังหรือเผา กันมิให้แมวหรือสุนัขไปกิน
  3. การจับต้องเนื้อสัตว์ในการทำอาหาร ควรใส่ถุงมือ เพราะพยาธิอาจไชเข้าทางผิวหนัง
  4. วิธีฆ่าเชื้อนอกจากต้มให้สุก พบว่า สำหรับน้ำดื่มควรต้มเดือดอย่างน้อย 5 นาที ความเย็น – 20 °C เป็นเวลา 3 วัน หรือหมักอาหารในน้ำส้มสายชู 6 ช.ม. สามารถฆ่าตัวอ่อนได้
  5. การบีบมะนาวในเนื้อสัตว์ทำให้อาหารเปลี่ยนสีคล้ายสุก แต่ที่จริงไม่ได้ฆ่าเชื้อ
  6. หลักเลี่ยงอาหารประเภท ก้อย ยำ ส้มฟัก อาหารย่างซึ่งมักทำไม่ค่อยสุก โดยเฉพาะอาหารที่ทำจากกุ้ง กบ ปู ก้อยปลา ไก่ย่าง ปลาดุกย่าง เป็นต้น